การลงทุนในหุ้น เป็นการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนรายย่อยมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีผลตอบแทนที่ดี และสามารถซื้อขายได้อย่างสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ
แต่ถึงแม้ว่าการเล่นหุ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี ก็ยังมีนักลงทุนหลายๆคนที่เล่นหุ้นแล้วอาจจะขาดทุนเพราะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดนี้อย่างแท้จริง
ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับ ว่าจริงๆแล้ว การลงทุนในหุ้นคืออะไร จะทำกำไรจากมันได้ยังไง และถ้าจะเริ่มเล่นหุ้น เราควรต้องรู้อะไรบ้าง
หัวข้อน่าสนใจ
การเล่นหุ้นคืออะไร
การลงทุนในหุ้น หรือหลายๆคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “เล่นหุ้น” ซะมากกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่เข้ามาซื้อขายหุ้นในลักษณะของการเก็งกำไร ซื้อมาขายไปเป็นรายวัน(Day Trade) หรือเลือกซื้อและทำกำไรจากสินทรัพย์ชนิดนี้ในระยะสั้นโดยที่อาจจะไม่ได้สนใจว่าจริงๆแล้วพื้นฐานหรือกิจการเบื้องหลังของหุ้นแต่ละตัวที่สร้างผลตอบแทนให้เราคืออะไร
จริงๆแล้วการเล่นหุ้นคือการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งประกอบกิจการอยู่ในธุรกิจแต่ละประเภทได้โดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลาก่อตั้งกิจการต่างๆด้วยตัวเอง ซึ่งนักลงทุนจะได้รับกำไรผลตอบแทนกลับไปตามสถานะผลประกอบการและสัดส่วนการถือหุ้น
ดังนั้นการลงทุนในหุ้นก็คือการเอาเงินลงทุนของเราเข้าไปเป็นทุนส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เราได้เลือกซื้อหุ้นไว้นั่นเองครับ และเมื่อเงินของเราเข้าไปอยู่ในกิจการของบริษัทดังกล่าว บริษัทเหล่านั้นก็จะนำเงินไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ลงทุนขยายกิจการในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำกำไรและสร้างผลตอบแทนส่งกลับมาให้นักลงทุนที่ถือครองหุ้นของบริษัทไว้
และในเมื่อผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของกิจการในแต่ละบริษัทเป็นหลัก นั่นก็แสดงว่าถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวเราต้องเลือกให้ถูกว่าควรจะซื้อหุ้นของบริษัทไหนดี
วิธีที่จะทำให้เราเลือกซื้อหุ้นถูกตัวได้ก็คือ เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น ว่าจริงๆแล้วการลงทุนในหุ้นมันคืออะไร ตลาดซื้อขายที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง มีวิธีการพิจารณาเลือกซื้อยังไง และเราจะทำกำไรจากสินทรัพย์ชนิดนี้ได้อย่างไร
จริงอยู่ว่าการเล่นหุ้นในแบบที่ไม่ได้สนใจพื้นฐานกิจการ หรือที่เรียกว่าเล่นหุ้นแบบ Technical ,เล่นเก็งกำไร,เล่นตามข่าว หรือหนักไปกว่านั้นคือลงทุนตามข่าวลือจากคนรอบข้างก็เป็นรูปแบบนึงของการลงทุนในหุ้นที่มีคนสามารถทำกำไรได้จริง และไม่ต้องเสียเวลามานั่งศึกษาพื้นฐานธุรกิจ
แต่คำถามก็คือ ถ้าเป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วไปอย่างเราๆ ที่ทำงานประจำไปด้วยและลงทุนไปด้วยเพื่อหวังสร้างอิสรภาพทางการเงิน เราจะสามารถทำกำไรในลักษณะนั้นได้ยั่งยืนขนาดไหน มีการขาดทุนจนหมดพอร์ตบ้างรึเปล่า ในระยะยาวมูลค่าพอร์ตการลงทุนมีการเติบโตสม่ำเสมอหรือไม่
และอีกปัจจัยที่สำคัญและต้องพิจารณาก็คือตัวเราเองมีทรัพยากร,ความสามารถ,เวลา และปัจจัยอื่นๆเหมือนกันกับนักลงทุน Technical มืออาชีพเจ้าใหญ่ๆที่อาจจะมีความศักยภาพในการชี้นำตลาดและรับความเสี่ยงมากๆได้เหล่านั้นหรือไม่
แต่ถ้าเราเป็นนักลงทุนหุ้นมือใหม่ เป็นคนที่ทำงานประจำไปด้วยและอยากจะแบ่งเงินแต่ละเดือนมาลงทุนในหุ้นเพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว ไม่ได้มีเวลามานั่งเฝ้าจอดูราคาหุ้นขุ้นลงทั้งวัน วิธีเดียวที่จะทำให้เรารวยจากหุ้นได้ก็คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นอย่างถ่องแท้ที่จะนำไปสู่ดุลพินิจในการเลือกซื้อหุ้นให้ถูกตัวและสร้างผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า
เพราะฉะนั้น เรามาดูกันครับว่าสำหรับนักลงทุนมือใหม่ ถ้าจะเริ่มเล่นหุ้นเราควรจะต้องรู้อะไรบ้าง เริ่มจากการทำความรู้จักสินทรัพยชนิดนี้ให้ดีขึ้นกันก่อนเลยครับ ว่า หุ้นคืออะไร มีกี่ประเภท และแบบไหนที่นักลงทุนรายย่อยทั่วไปใช้ซื้อขายกัน
หุ้นคืออะไร
หุ้นคือหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่แสดงสัดส่วนความเป็นเจ้าของในกิจการ ซึ่งหุ้นจะถูกนำออกขายโดยบริษัทที่ต้องการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในธุรกิจ เช่นใช้เงินทุนในการขยายกำลังการผลิตสินค้า การสร้างผลิตภัณฑ์หรือตลาดใหม่ๆเพื่อเพิ่มการเติบโตในธุรกิจที่บริษัทนั้นๆประกอบกิจการอยู่
เวลาที่บริษัทต้องการระดมทุน ก็จะนำหุ้นมาออกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วๆไปโดยจะมีการกำหนดจำนวนหุ้นที่จะออกขายและราคาหุ้นต่อ 1 หุ้นไว้
บริษัทที่จะสามารถออกหลักทรัพย์มาเสนอขายเพื่อระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้นั้นเรียกว่า “บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)ให้สามารถนำหุ้นออกขายเพื่อระดมทุนมาประกอบกิจการได้
การที่บริษัทเหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากกลต.ก่อนนำหุ้นออกเสนอขายก็เพื่อที่จะให้แน่ใจได้ว่าบริษัทที่ต้องการระดมทุนนั้นมีการบริหารงานภายในและการกำกับดูแลเรื่องต่างๆที่ดีตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น รวมถึงมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่นำเงินมาลงทุนซื้อหุ้น
เพราะการที่ประชาชนทั่วไปนำเงินมาซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนฯเหล่านี้ ก็หมายความว่าคนที่ซื้อหุ้นไปนั้นจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการผลดำเนินงานบริษัทที่เค้าซื้อหุ้นไว้ด้วย และทำให้มีสถานะเป็นเจ้าของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นที่ได้ซื้อไว้
ตัวอย่างเช่น บริษัท A อาจจะต้องการระดมทุนเป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท ก็อาจจะนำหุ้นออกมาเสนอขายจำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นต้น
และถ้าเราซึ่งเป็นนักลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท A ไว้เป็นจำนวน 1 ล้านหุ้น(หรือคิดเป็นเงิน 10 ล้านบาท) เราก็จะเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสถานะความเป็นเจ้าของในบริษัท A เป็นสัดส่วน 1 % นั่นเอง
เมื่อบริษัท A นำเงินที่ได้จากเราไปประกอบธุรกิจและสร้างผลกำไรได้ดี ก็จะนำกำไรนั้นมาแบ่งคืนให้กับนักลงทุนตามสัดส่วน เช่น 50% ของกำไรต่อหุ้นเป็นต้น หรือแล้วแต่นโยบายการปันผลที่วางไว้
และเมื่อบริษัท A สามารถทำกำไรได้ดี เติบโตต่อเนื่อง ก็ย่อมจะมีคนต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในความเป็นเจ้าของบริษัท A มากขึ้น ราคาหุ้นของบริษัท A ก็จะเพิ่มขึ้น อาจจะกลายเป็น 12 บาทต่อหุ้น ซึ่งราคาจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าสูงแค่ไหน
ถ้าเป็นหุ้นที่กิจการดี ทำกำไรได้ มีการเติบโตดี ก็จะมีคนต้องการมาก ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าเป็นหุ้นที่กิจการไม่ค่อยดี มีกำไรน้อยหรือไม่มีเลย ก็จะมีคนต้องการน้อย ราคาหุ้นก็จะลดต่ำลง
จะเห็นว่า เมื่อนักลงทุนนำเงินมาซื้อหุ้น ก็จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน 2 ลักษณะคือ เงินปันผลจากกำไรของกิจการ(Dividend) หรือ กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น(Capital Gain)นั่นเอง
การที่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นไว้นั้นจะมีสถานะเป็นเจ้าของในธุรกิจไปด้วยก็เพราะว่าบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปเป็นทุนในการทำธุรกิจต่อไปนั่นเองครับ หุ้นจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตราสารทุน(Equity)”
ตราสารทุน คืออะไร
ตราสารทุนคือเอกสารที่กิจการออกให้นักลงทุนที่นำเงินของตัวเองมาเข้าเป็นทุนส่วนหนึ่งของกิจการนั้นๆไว้เพื่อเป็นเอกสารทางกฎหมายใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของส่วนทุนดังกล่าวและเพื่อแสดงสิทธิในการที่จะได้รับประโยชน์จากทุนที่ได้นำมาลงไว้ในกิจการ
ส่วนได้ส่วนเสียหรือประโยชน์ที่ผู้ถือตราสารทุนจะมีก็เช่น มีสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือรายได้ของกิจการ รวมถึงมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลจากการประกอบกิจการตามสัดส่วนที่ได้ถือครองหุ้นไว้
ซึ่งจริงๆแล้วตราสารทุนมันก็คือเอกสารที่เรียกว่า “ใบหุ้น” นั่นเองครับ เพราะตามหลักแล้วบริษัทที่นำหุ้นออกขายมีหน้าที่ต้องจัดทำใบหุ้นให้นักลงทุนแต่ละคนที่ซื้อหุ้นไว้เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหุ้น
แต่ปัจจุบัน ในทางปฏิบัติแล้วบริษัทจดทะเบียนฯต่างๆจะไม่มีการออกใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้น เพราะหุ้นหรือหลักทรัพย์ตราสารทุนชนิดต่างๆนั้นถูกซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แทบจะตลอดเวลา
แต่ก็ยังเป็นสิทธิของนักลงทุนที่สามารถร้องขอให้ทางบริษัทที่ตัวเองซื้อหุ้นไว้ออกเอกสารใบหุ้นให้ได้อยู่นะครับ
และในเมื่อนักลงทุนได้นำเงินมาลงไว้เป็นทุนสำหรับใช้ในการประกอบกิจการ ผู้ที่ถือเอกสารตราสารทุนจึงมีฐานะเป็นเจ้าของร่วมในส่วนหนึ่งของกิจการนั้นๆด้วย
จริงๆแล้ว ความหมายของตราสารทุนนั้นไม่ได้หมายความถึงแค่เฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “หุ้น” เพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ เพราะตราสารทุนสามารถเป็นเอกสารที่ใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่ถูกนำไปใช้เป็นทุน หรือใบแสดงสิทธิที่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น
- หน่วยลงทุนในกองทุนรวม (Unit Trust)
- ใบสำคัญแสดงสิทธิ(Warrant)
- ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง(DR:Depository Receipt)
- ใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้(TSR:Transferable Subscription Right)
- ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย(NVDR:Non-Voting Depository Receipt)
แต่ในบทความนี้ เราจะขอพูดถึงตราสารทุนประเภท “หุ้น” เท่านั้นละกันนะครับ เพราะเป็นบทความที่มุ่งเน้นให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับหลักทรัพย์ประเภทนี้ให้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนต่อไป
และสิ่งที่เรียกว่า “หุ้น” ก็ยังสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆได้อีกนะครับ เราไปดูกันว่าหุ้นนี่มันมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมันต่างกันยังไง
หุ้นมีกี่ประเภท
ถ้าอยากจะลงทุนในหุ้น เราก็ควรจะรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าหุ้นให้ดีซะก่อน สิ่งพื้นฐานที่เราควรจะรู้เลยก็คือประเภทของหุ้นและสิทธิที่เราพึงได้สำหรับการถือหุ้นแต่ละประเภท
จริงๆแล้วในตลาดหุ้น มีวิธีการแบ่งประเภทของหุ้นอยู่หลากหลายพอสมควรขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนแต่ละคนจะใช้หลักการอะไรในการแบ่ง เช่น หุ้นเติบโต หุ้นเก็งกำไร หุ้นปันผล และอื่นๆอีกมากมาย
สังเกตุมั้ยครับว่าประเภทของหุ้นที่แบ่งตามลักษณะที่ได้เขียนไปด้านบนจริงๆแล้วเป็นการแบ่งด้วยความเหมาะสมของวิธีการลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ซึ่งก็จะช่วยให้มือใหม่พอจะมีหลักในการแยกแยะหุ้นที่ตัวเองสนใจได้ และเราจะมีการเขียนถึงการแบ่งประเภทหุ้นตามลักษณะดังกล่าวอย่างละเอียดในบทความต่อๆไป
แต่ถ้าจะว่ากันตามพื้นฐานจริงๆแล้ว หุ้นในกิจการที่จดทะเบียนตามกฎหมายสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆตามสิทธิของหุ้นแต่ละแบบ
หุ้นสามัญ(Common Stock) คืออะไร
หุ้นสามัญคือตราสารทุนประเภทหุ้น ที่บริษัทมหาชนจำกัด(บมจ.)นำออกขายให้นักลงทุนประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการระดมทุนนำไปใช้ในกิจการ
นักลงทุนที่ซื้อและถือครองหุ้นสามัญจะมีสถานะเป็นเจ้าของร่วมในบริษัทตามสัดส่วนปริมาณหุ้นที่ถือครองอยู่ ซึ่งจะมีสิทธิในการออกเสียงเรื่องต่างๆในการประชุมผู้ถือหุ้นด้วย เช่นการแต่งตั้งผู้บริหาร,การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ
นอกจากสิทธิในการออกเสียงแล้ว ผู้ถือหุ้นสามัญยังมีสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งกำไรจากการประกอบการที่เรียกว่าเงินปันผล ซึ่งจะได้รับปันผลมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและผลประกอบการของแต่ละบริษัท
ผลตอบแทนการลงทุนอีกประเภทที่ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับก็คือ ในกรณีที่กิจการมีความสามารถในการทำกำไรและมีการเติบโตของกิจการที่ดี ราคาหุ้นต่อหน่วยของกิจการดังกล่าวก็มักจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่วนต่างของราคาหุ้นที้เพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นอีกช่องทางนึงที่ผู้ถือหุ้นสามัญจะทำกำไรได้(เรียกว่า Capital Gain)
นอกจากสิทธิและผลตอบแทนที่จะได้รับแล้ว ผู้ถือหุ้นสามัญยังมีสิทธิในการจองซื้อตราสารทุนออกใหม่เมื่อบริษัทต้องการที่จะระดมทุนเพิ่ม เช่น เมื่อมีการเพิ่มทุนหรือมีออกใบสำคัญแสดงสิทธิต่างๆเพิ่มเติม
หุ้นสามัญที่มีการซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะมีชื่อย่อเฉพาะสำหรับหุ้นของแต่ละบริษัท เช่น ADVANC,ฺBBL,SMK เป็นต้น
และนอกจากตัวย่อของหุ้นสามัญทั่วๆไปแล้ว ก็อาจจะมีหุ้นสามัญบางตัวที่นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ สามารถสังเกตุหุ้นเหล่านี้ได้ง่ายๆคือจะมีตัวอักษร “-F” ตามหลังชื่อหุ้น เช่น BANPU-F เป็นต้น
หุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนในอัตราที่สูงเป็นอันดับต้นๆเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบที่ไกล้เคียงกัน เช่นตราสารหนี้,กองทุนรวม หรือหุ้นบุริมสิทธิ
แต่อัตราผลตอบแทนที่สูงก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงกว่าหลักทรัพย์ชนิดอื่นๆด้วยเหมือนกัน เพราะราคาของหุ้นสามัญจะมีความผันผวน และอัตราการจ่ายเงินปันผลจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับกำไรที่บริษัททำได้ในแต่ละช่วงเวลา
รวมถึงสิทธิในการรับชำระหนี้ของหุ้นสามัญก็แทบจะอยู่อันดับท้ายๆในบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับกิจการ เพราะถือว่าผู้ถือหุ้นสามัญมีฐานะเสมือนเจ้าของร่วมในกิจการ
เพราะในกรณีที่บริษัทเกิดการล้มละลาย ผู้ที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการจะได้รับการชำระหนี้ก่อนเป็นอันดับแรกๆ เช่น ผู้ถือตราสารหนี้,เจ้าหนี้รายอื่นๆ
และเมื่อบริษัทได้ชำระหนี้ให้ผู้ที่มีสถานะเป็นเจ้าหนี้แล้วยังเหลือทรัพย์สินก็ค่อยมาชำระคืนให้ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
หุ้นบุริมสิทธิ(Preferred Stock) คืออะไร
หุ้นบุริมสิทธิคือตราสารทุนประเภทหุ้นที่บริษัทนำออกเสนอขายให้นักลงทุนเพื่อใช้ในการระดมทุน และให้สิทธินักลงทุนในการเป็นเจ้าของร่วมเช่นเดียวกันกับหุ้นสามัญ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะไม่มีสิทธิออกเพื่อลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ถึงแม้หุ้นบุริมสิทธิจะไม่มีสิทธิออกเสียงในเรื่องต่างๆ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินปันผลด้วยอัตราคงที่ในแต่ละปีหากบริษัทมีกำไรจากการประกอบการ ซึ่งอัตราการผันผลจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานเหมือนผู้ถือหุ้นสามัญ
แต่ข้อเสียก็คือ ในบางปีที่บริษัทมีผลประกอบการดีมากๆ อัตราเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิได้นั้นอาจจะน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญได้เหมือนกัน
จริงๆแล้ว คำว่า “บุริม” มีความหมายอีกอย่างนึงคือ “ก่อน” ซึ่งเมื่อมารวมกับคำว่า “สิทธิ” จึงเกิดเป็นคำว่า “บุริมสิทธิ” ขึ้นแปลว่า “มีสิทธิก่อน” ซึ่งเป็นอีกคุณสมบัตินึงของหุ้นประเภทนี้นั่นเองครับ
นั่นก็เพราะว่า หากบริษัทมีการเลิกกิจการหรือเกิดล้มละลาย ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิได้รับการรับชำระหนี้ หรือได้รับเงินลงทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญนั่นเอง
หุ้นบุริมสิทธิ เป็นหุ้นประเภทที่ไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายกันมากนักในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็จะทำให้ตัวหุ้นมีสภาพคล่องที่ต่ำกว่าหุ้นสามัญ
แต่ถ้าใครอยากจะลองลงทุนในหุ้นประเภทนี้ดู ก็สามารถหาสัญลักษณ์ของหุ้นบุริมสิทธิในตลาดหลักทรัพย์ได้ครับ โดยที่จะมีสัญลักษ์ -P อยู่หลังตัวย่อชื่อหุ้น
เมื่อเรารู้จักประเภทของหุ้นกันแล้ว ว่าแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง ต่อไปเราก็จะต้องมารู้จักกับสถานที่ซื้อขายกันครับ ถ้าเราอยากจะซื้อขายหุ้น เราก็จะต้องทำการซืื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้นนั่นเอง
ตลาดหลักทรัพย์คืออะไร?
ตลาดหลักทรัพย์คือสถานที่สำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์จดทะเบียนในรูปแบบต่างๆ เช่นหน่วยลงทุนในกองทุนรวม,พันธบัตร,ใบสำคัญแสดงสิทธิ,ETF,ตราสารอนุพันธ์ และแน่นอนว่าเป็นศูนย์รวมการซื้อขายหุ้นของบริษัทต่างๆ
แต่ในบทความนี้เราจะขอเน้นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น หรือที่เรียกกันติดปากว่าตลาดหุ้นละกันนะครับ
ตลาดหุ้นคืออะไร?
เมื่อบริษัทต่างๆมีความต้องการระดมทุนหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่นอกเหนือจากการกู้เงินธนาคาร ทางเลือกนึงที่น่าสนใจก็คือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
และเมื่อบริษัทหรือกิจการดังกล่าวมีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนฯแล้วก็จะสามารถนำหุ้นของตัวเองออกเสนอขายให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจจะลงทุนในกิจการนั้นๆเข้ามาซื้อหุ้นได้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง
ตลาดหุ้นจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางของการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทต่างๆที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะดำเนินการอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ กลต. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวนักลงทุนเอง,นายหน้า และบริษัทจดทะเบียนฯ
บริษัทที่ต้องการจะนำหุ้นของตัวเองออกเสนอขายจะต้องทำผ่านกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ที่เรียกว่า IPO (:Initial Public Offering) และทำให้นักลงทุนที่สนใจจะลงซื้อหุ้นของแต่ละบริษัทก็สามารถซื้อหุ้นผ่านนายหน้า(Broker) ที่เป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ได้
แต่ละประเทศก็จะมีตลาดหลักทรัพย์ของตัวเองที่เป็นตัวกลางช่วยควบคุมและอำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินการลงทุนต่างๆในประเทศ ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น
- ตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกา มีอยู่ 2 ตลาด มีเชื่อเรียกว่า New York Stock Exchange(NYSE) และ Nasdaq
- ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า Tokyo Stock Exchange(TSE)
- ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเวียดนาม มีอยู่ 2 แห่ง มีชื่อเรียกว่า ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์(Ho Chi Minh Stock Exchange :HOSE) และตลาดหลักทรัพย์ฮานอย( Hanoi Stock Exchange:HNX)
และแน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยเราก็มีตลาดหลักทรัพย์เหมือนกันครับ และมีถึง 2 ตลาดไว้สำหรับรองรับได้ทั้งการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นนักลงทุนไทย ตลาดหุ้นที่เราจะลงทุนกันหลักๆก็น่าจะเป็นตลาดหุ้นไทย เพราะฉะนั้น เราไปทำความรู้จักกับตลาดหุ้นของไทยกันครับ
รู้จักตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นในเมืองไทยมีอยู่ 2 ตลาด คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET:Stock Exchange Of Thailand) และตลาดหลักทรัพย์ MAI(Market for Alternative Investment) ซึ่งเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทที่ตัวเองสนใจลงทุนได้
เรามาย้อนดูกันครับ ว่าประวัติความเป็นมาของตลาดหุ้นไทยเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆอะไรมาบ้าง
ประวัติคร่าวๆของตลาดหุ้นไทย
กำเนิดของตลาดหุ้นไทยนั้น เกิดมาพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในช่วงปีพศ. 2504-2509
ยุคแรกของตลาดหุ้นไทยเรียกว่ายุค “ตลาดหุ้นกรุงเทพ” เกิดขึ้นมาในปีพ.ศ.2505 ซึ่งใช้เป็นสถานที่ให้สมาชิกซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าต่างๆมารวมตัวกันเพื่อให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์
โดยบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้จะรับคำสั่งซื้อ/ขายจากลูกค้า และนำคำสั่งเหล่านั้นไปจัดการซื้อหรือขายหุ้นให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ
แต่เนื่องจากในสมัยนั้นความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนในตลาดทุนของคนไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกอยู่ในตลาดก็ยังมีเงินทุนในปริมาณที่ไม่มากทำให้ยังไม่สามารถขยายกิจการได้มากซักเท่าไหร่
เมื่อบริษัทหลักทรัพย์มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจซื้อขายหุ้น รวมถงการบริหารจัดการตลาดที่ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้การลงทุนในตลาดทุนของไทยในช่วงนั้นไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
สังเกตุได้จากมูลค่าการซื้อขายในแต่ละปีตลาดหุ้นกรุงเทพที่ยังมีมูลค่าการซื้อขายไม่มากเพราะยังไม่เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป จนตลาดหุ้นกรุงเทพต้องปิดตัวลงในที่สุด
แต่ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นในยุคแรกจะปิดตัวลงไป แต่ประเทศไทยก็ยังมีการดำเนินการพัฒนากิจการตลาดทุนอยู่อย่างต่อเนื่องไปพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 โดยในปีพ.ศ. 2512 รัฐบาลมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติมาร่วมวิจัยและศึกษาเพื่อดูว่าจะมีช่องทางพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างไรได้บ้าง
จากงานวิจัยดังกล่าวที่ทำเสร็จสิ้นในปีพ.ศ.2513 จึงได้พบว่าในประเทศไทยจริงๆแล้วมีปริมาณหลักทรัพย์และผู้ที่สนใจซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นมีปริมาณมากอยู่พอสมควร แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายและข้อจำกัดในเรื่องอื่นๆอยู่ จึงเสนอให้รัฐบาลมีการแก้ไขต่อไป
เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนเริ่มมีความรู้และเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีการสนับสนุนจากทางภาครัฐและมีการจัดการตลาดอย่างเป็นระบบมากขึ้นโดยเห็นได้จากการปรับแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุนในปี พ.ศ.2517 เรื่อยมาจนเกิดความลงตัวในปี พ.ศ.2518
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2518 ก็เริ่มมีการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยในยุคใหม่เกิดขึ้น โดยมีชื่อเรียกว่า “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” (Securities Exchange of Thailand)
หลักจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้การดำเนินงานและมีพัฒนาการมาตามลำดับ และเปลี่ยนชื่อเป็น Stock Exchange of Thailand(SET) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2534 และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หรือบางคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า “ดัชนี SET Index”
SET Index คืออะไร
คำว่า SET จริงๆแล้วเป็นชื่อย่อมาจากคำว่า The Stock Exchange of Thailand ซึ่งก็คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหุ้นไทยนั่นเองครับ
ส่วน Index แปลว่า “ดัชนี” ในที่นี้จะหมายถึงดัชนีหุ้น เพราะฉะนั้น SET Index ก็คือดัชนีราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นเอง
ดัชนี SET Index เป็นตัวเลขดัชนีที่จะช่วยบอกความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครับ ซึ่งการขึ้นลงของราคาหุ้นในแต่ละวันก็จะส่งผลถึงมูลค่าตลาดในแต่ละวันด้วย
นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเลขดัชนี SET Index จะช่วยบอกระดับมูลค่าโดยรวมของตลาดหุ้นไทยและสะท้อนสภาวะการเคลื่อนไหวโดยรวมของตลาดหุ้นในแต่ละวันเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้าได้ ตัวอย่างเช่น
หากวันนี้ตัวเลขดัชนีหุ้นบวกเพิ่มขึ้น(ตัวเลขดัชนีจะเป็นสีเขียว) หมายความว่ามูลค่ารวมของตลาดหุ้นในวันนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากวันก่อน ซึ่งก็หมายความว่าราคาหุ้นโดยรวมส่วนใหญ่ของตลาดในวันนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากเมื่อวาน
ในทางกลับกัน หากดัชนีหุ้นในวันนี้มีค่าลดน้อยลง(ตัวเลขดัชนีจะเป็นสีแดง) หมายความว่ามูลค่ารวมของตลาดหุ้นในวันนี้ลดน้อยลงจากวันก่อน และแน่นอนว่ามีสาเหตุมาจากราคาหุ้นโดยรวมส่วนใหญ่ของตลาดในวันนี้ปรับตัวลดต่ำลงจากเมื่อวาน
ซึ่งอย่างที่กล่าวไปนะครับว่าดัชนี SET Index เป็นเพียงตัวเลขโดยภาพรวมของหุ้นทั้งหมดในตลาด เพราะฉะนั้น อาจจะมีบางทีที่หุ้นที่เราถืออยู่ราคาตกลงมา แต่ดัชนี SET Index กลับปรับตัวขึ้น
หรือในทางตรงกันข้ามบางครั้งหุ้นที่เราถืออยู่อาจจะมีราคาแพงขึ้น แต่ดัชนี SET Index ในวันนี้อาจจะปรับตัวลดลงก็เป็นไปได้
นั่นหมายความว่า ตัวเลข SET Index สามารถบอกสภาวะตลาดได้อย่างคร่าวๆเท่านั้นเพราะเป็นการมัดรวมหุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัว ทุกประเภท ทุกขนาดมูลค่า มาจัดทำข้อมูลดัชนี(รวมหน่วยลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนไว้ด้วย)
ด้วยเหตุนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้จัดหุ้นอีกเป็นกลุ่มย่อยๆ และทำตัวเลขดัชนีของ SET ขึ้นมาในอีกหลายประเภท เพื่อให้นักลงทุนสามารถดูการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหุ้นและมูลค่าตลาดที่เกี่ยวข้องในแง่มุมอื่นๆได้
ดัชนี SET แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำกลุ่มดัชนีที่แยกย่อยมาจากดัชนีหลักอย่าง SET Index ซึ่งเป็นการคัดเลือกหุ้นมาเข้ากลุ่มแต่ละกลุ่มเพื่อมาทำการคำนวณดัชนีย่อยสำหรับบอกความเคลื่อนไหวโดยรวมของกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มอีกที
ซึ่งหุ้นแต่ละตัวที่ถูกคัดเลือกเข้ามาเพื่อคำนวณดัชนีย่อยๆนั้น จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆในทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้หุ้นที่นำมาใช้จัดทำดัชนีนั้นเข้าเกณฑ์ของแต่ละกลุ่มอยู่เสมอ
นักลงทุนสามารถใช้ดัชนีของแต่ละกลุ่มในการวัดผลตอบแทน และประเมินความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นแต่ละกลุ่มได้ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำดัชนีกลุ่มย่อยดังกล่าวไว้ 11 ดัชนี ได้แก่
- ดัชนี SET50
- ดัชนี SET100
- ดัชนี SETHD
- ดัชนี sSET
- ดัชนี SETTHSI
- ดัชนี SETWB
- ดัชนี SETTRI
- ดัชนี SET Industry
- ดัชนี SET Sector
- ดัชนี SET CLMV
- ดัชนี mai
ดัชนี SET50
ดัชนี SET50 คือดัชนีราคาหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดและสภาพคล่องสูงสุด 50 ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์ เปรียบเสมือนการคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดีที่สุด 50 บริษัทแรกที่มีในตลาด
การเคลื่อนไหวของหุ้นในกลุ่มนี้มักจะส่งผลอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี SET Index ซึ่งมักจะมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอยู่ตลอดเวลา
หุ้นที่จะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาอยู่ในดัชนี SET50 จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นหลักๆคือมีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีสภาพคล่องหรือปริมาณการซื้อขายอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และจะต้องมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยตามเกณฑ์ที่กำหนด
ดัชนี SET100
ดัชนี SET100 คือดัชนีราคาหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดและสภาพคล่องสูงสุด 100 ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการที่นำรายชื่อหุ้นเข้ามาจัดอันดับเพิ่มเติมจาก SET50 ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือสะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นที่มีขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ให้นักลงทุนใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุนได้อีกทางหนึ่ง
ถึงแม้ว่าจะเป็นดัชนีกุล่มหุ้นที่รวมเอาหุ้นที่ไม่ได้มีมูลค่าตลาดมากถึงขนาดที่อยู่ใน SET50 เอาไว้ แต่ก็มีเกณฑ์การคัดเลือกที่ไกล้เคียงกันนะครับ คือจะต้องมีมูลค่าตลาดสูงและมีสภาพคล่องสูงอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยสูงกว่า 20%
หากใครเป็นนักลงทุนมือใหม่ และยังไม่รู้จะเริ่มจากหุ้นตัวไหนดี การเริ่มศึกษาหุ้นตัวแรกๆจาก SET100 ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ เพราะเหมือนมีคนกรองหุ้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ได้คุณภาพระดับนึงมารวมกันไว้ให้ศึกษาแล้ว
แต่ถ้าใครอยากจะศึกษาหรือลงทุนในหุ้นกลุ่มอื่นๆเช่น หุ้นปันผล การดูหุ้นในกลุ่ม SET100 และ SET50 ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ซักเท่าไหร่ เพราะไม่ได้นำอัตราปันผล(Dividend Rate) มาพิจารณารวมกับเกณฑ์การกรองหุ้นเข้าดัชนี
ดังนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้จัดทำดัชนีสำหรับคนที่สนใจลงทุนเพื่อรับเงินปันผลขึ้นมาโดยเฉพาะ เรียกว่า SETHD
ดัชนี SETHD
SETHD หรือ SET High Dividend คือดัชนีกลุ่มหุ้น 30 อันดับที่มีการให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนด้วยอัตราการปันผลที่สูงและมีการปันผลอย่างต่อเนื่อง เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องดี และมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงอยู่ในดัชนี SET100 ในรอบการพิจารณาเดียวกัน
จะสังเกตุได้คร่าวๆว่า หุ้นที่อยู่ในดัชนี SETHD นั้น มีเกณฑ์การคัดเลือกคล้ายๆกับหุ้นในดัชนี SET50 และ SET100 เพียงแต่นำเรื่องผลตอบแทนจากเงินปันผล(Dividend Yield) เข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณาด้วยนั่นเอง
ซึ่งการมีดัชนี SETHD นั้น นอกจากจะช่วยสะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มที่มีอัตราการปันผลดีแล้ว ก็ยังสามารถใช้เป็นดัชนีอ้างอิงเพื่อวัดผลการลงทุน หรือสามารถใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆได้อีกด้วย เช่นกองทุนหุ้นปันผล เป็นต้น
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆท่านอาจจะสังเกตุได้ว่าดัชนีของกลุ่มหุ้นที่เขียนมาไม่ว่าจะเป็น SET100, SET50 หรือ SETHD ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาด(Market Cap)ขนาดใหญ่หรือกลาง
แต่จริงๆแล้ว ในตลาดหุ้นไทยนั้นยังมีหุ้นขนาดเล็กตัวอื่นๆอีกเป็นร้อยๆตัวที่ไม่ได้ถูกนำไปคำนวณอยู่ในดัชนี SET100,SET50,SETHD คำถามก็คือ แล้วนักลงทุนที่อยากจะลงทุนในหุ้นที่ยังมีมูลค่าไม่สูงนัก จะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาหุ้นล่ะ?
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ได้จัดทำดัชนีขึ้นมาอีกชนิดนึงที่เรียกว่าดัชนี sSET นั่นเองครับ
ดัชนี sSET
ดัชนี sSET คือดัชนีของหุ้นสามัญจดทะเบียนขนาดกลาง-เล็กที่ไม่ได้อยู่ในดัชนีSET50,และ SET 100 เพื่อให้นักลงทุนได้รู้จักกับหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้มากขึ้น
อย่างที่ได้เขียนไปก่อนหน้านี้ว่าหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 และ SET100 นั้นล้วนเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงและส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET Index โดยรวมค่อนข้างมากจนมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันตลอดเวลา
แต่สำหรับหุ้นตัวอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ใน SET100 นั้นมักจะเป็นหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งอาจจะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวของราคาสอดคล้องกับดัชนีหลักของตลาดมากขนาดนั้น
เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีดัชนีสำหรับที่ใช้สะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นขนาดกลาง-เล็กและใช้เป็นเครื่องมือวัดผลการลงทุนสำหรับหุ้นทั่วๆไปที่ไม่ได้อยู่ใน SET100 รวมถึงใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินชนิดอื่นๆที่เดี่ยวข้อง เช่น ETF หรืออณุพันธ์ต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหุ้นเหล่านี้ก็คือในบางช่วงเวลา หุ้นขนาดกลาง-เล็กนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้ในอัตราที่สูงกว่าดัชนีหลักด้วยซ้ำ
ดังนั้น การพิจารณาหุ้นที่อยู่ในดัชนี sSET ก็อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่กำลังค้นหาหุ้นที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักแต่มีศักยภาพที่จะทำกำไรได้ดีในอนาคตก็เป็นได้
ดัชนี SETTHSI
SETTHSI คือดัชนีของหุ้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ “หุ้นยั่งยืน” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Thailand Sustainability Investment : THSI ซึ่งถือเป็นหุ้นของธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน
โดยที่ความยั่งยืนดังกล่าวนั้นจะมาจากปัจจัยหลักๆ 3 อย่างคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(Environment),ผลกระทบต่อสังคม(Social), และปัจจัยสุดท้ายคือบรรษัทภิบาลภายในบริษัท(Governance) โดยจะเรียกปัจจัยความยั่งยืนทั้ง 3 อันนี้ย่อๆว่า “ESG”
การลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืนเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในต่างประเทศ เพราะในปัจจุบันคนเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆที่มาจากธุรกิจมากว่าแค่การพิจารณางบการเงินเพียงอย่างเดียว
ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เลยมีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืนขึ้นมา และนำมาคัดกรองด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่นมูลค่าตามราคาตลาด,สภาพคล่อง และอื่นๆ เพื่อจัดทำดัชนี SETTHSI ขึ้นมาสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนในธุรกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดัชนี SETWB
ดัชนี SETWB ย่อมาจาก SET Well-Being คือดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นในธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีผลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยมากพอสมควร
และเมื่อหุ้นใน SETWB นั้นเป็นธุรกิจที่มักจะมีแหล่งเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาอยู่เสมอ ธุรกิจเหล่านี้จึงสามารถช่วยสร้างงานสร้างรายได้และส่งผลต่อ GDP ของประเทศ
โดยหุ้นที่มีสิทธิเข้ามาอยู่ในกลุ่มดัชนี SETWB นั้นจะถูกคัดเลือกจากหุ้นใน 7หมวดธุรกิจได้แก่
- การเกษตร
- ธุรกิจพาณิชย์
- แฟชั่น
- อาหารและเครื่องดื่ม
- การแพทย์,
- การท่องเที่ยวและสันทนาการ
- ขนส่งและโลจิสติกส์
ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเลือกหุ้นจาก 7 หมวดธุรกิจดังกล่าวโดยใช้หลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดขึ้นมาเพื่อกรองหาหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงสุด 30 อันดับแรก และนำมาจัดทำเป็นดัชนี SETWB
จากรายชื่อหมวดธุรกิจที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าหุ้นในธุรกิจเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่อยู่รอบๆตัวผู้บริโภคอย่างเราๆ และสอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมและเศรษฐกิจของไทยเช่นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มขึ้นของคนในประเทศ
ดังนั้นหุ้นในกลุ่ม SETWB จึงเป็นหุ้นที่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการมองหาหุ้นของธุรกิจที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคต โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ที่ยังมีประสบการณ์เฟ้นหาหุ้นไม่มากนัก การมองหุ้นที่อยู่ใน SETWB ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง
ดัชนี SETTRI
SET TRI ย่อมาจาก SET Total Return Index คือดัชนีที่สะท้อนผลตอบแทนรวมทุกประเภทจากการลงทุนในหุ้น ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดและเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ(เช่นกองทุนหุ้น)ได้ครบถ้วนมากกว่าการเปรียบเทียบกับดัชนี SET Index
การคำนวณดัชนี SET Index นั้นสามารถบอกความเคลื่อนไหวโดยรวมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็จริง แต่ก็ยังไม่ได้นำเอาผลตอบแทนทุกประเภทที่ได้จากการลงทุนในหุ้นมาใช้ในการคำนวณ
ปัจจัยผลตอบแทนที่ถูกนำมาใช้คำนวณในดัชนี SET Index นั้นมีแค่ส่วนต่างของราคาหุ้น(Capital Gain) และสิทธิในการจองซื้อหุ้น แต่ยังไม่ได้รวมผลตอบแทนอีกประเภทที่เรียกว่า “เงินปันผล” (Dividend) เข้าไปในการคำนวณดัชนี
ปัญหาคือ ในกรณีที่เรานำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหุ้น การวัดอัตราผลตอบแทนของการลงทุนเหล่านั้นแทบทั้งหมดจะรวมเอาผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินปันผลเอาไว้ด้วย จึงไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับ SET Index ได้โดยตรง
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะหาตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุน(Benchmark)ได้แม่นยำจริงๆ เราก็ควรจะหาตัวเปรียบเทียบที่นำเงินปันผลเข้าไปเป็นปัจจัยในการคำนวณด้วย
ดัชนี SET TRI จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงส่วนนี้ ด้วยการเพิ่มเงินปันผลเข้าไปเป็นปัจจัยที่ใช้คำนวณอัตราผลตอบแทนและออกมาเป็นค่าดัชนีเพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดผลการลงทุน
สรุปก็คือ SET TRI เป็นดัชนีชี้วัดผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นโดยการนำผลตอบแทนทุกประเภท ได้แก่ ส่วนต่างราคาหุ้น,สิทธิในการจองซื้อหุ้น และเงินปันผลที่ได้ มาคำนวณเป็นดัชนีเพื่อติดตามผลตอบแทนรวมทุกประเภทนั่นเอง
ซึ่งดัชนีประเภท Total Return Index:TRI นี้ทางตลาดหลักทรัพย์ได้จัดทำไว้ให้สำหรับดัชนีหุ้นทุกกลุ่มเพื่อให้นักลงทุนได้เลือกใช้งานอย่างเหมาะสมกับวิธีการลงทุนของตัวเอง เช่น SET50 TRI TRI,SET100TRI,sSET TRI,SETCLMV TRI,SETHD TRI,SETWB TRI และอื่นๆ
ดัชนี SET Industry
ดัชนี SET Industry หรือดัชนีราคารายกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นการจัดทำดัชนีโดยการแยกแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นในอุตสาหกรรมนั้นๆ และใช้เป็นตัวเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ดัชนี SET Sector
SET Sector Index คือดัชนีหุ้นรายหมวดธุรกิจ ใช้สำหรับติดตามความเคลื่อนไหว และสะท้อนราคาของหุ้นในธุรกิจที่มีพื้นฐานอยู่ในธุรกิจแบบเดียวกัน โดยทางตลาดหลักทรัพย์ได้แบ่งหมวดธุรกิจไว้ทั้งหมด 28 หมวด
ดัชนี SET Sector สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบศักยภาพของธุรกิจที่เราสนใจได้ว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆในหมวดธุรกิจเดียวกันแล้วผลงานของบริษัทที่เราสนใจลงทุนนั้นอยู่ในระดับไหน
ดัชนี SET CLMV
ดัชนี SET CLMV คือดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นของบริษัทที่มีรายได้จากการทำธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศได้แก่ กัมพูชา(C),ลาว(L),เมียนม่าร์(M) และเวียดนาม(V)
บริษัทที่จะได้เข้ามาอยู่ในดัชนี SET CLMV จะต้องมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่ทางตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ เช่น ต้องมีรายได้จากกลุ่มประเทศ CLMV ไม่น้อยกว่า 10% หรืออย่างน้อย 100 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า หากนักลงทุนท่านไหนอยากจะลองลงทุนกับธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV แต่กังวลเรื่องความเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ท่านสามารถลงทุนได้ในหุ้นไทยที่มีรายได้จากกลุ่มประเทศดังกล่าว และมีสภาพคล่องสูงแถมยังช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยการเลือกลงทุนในหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET CLMV แทน
ดัชนี mai
ดัชนี MAI คือดัชนีที่สะท้อนภาพรวมความเคลื่อนไหวของหุ้นที่อยู่ในตลาด MAI ทั้งหมด ซึ่งธุรกิจที่อยู่ในตลาด MAI จะเป็นธุรกิจที่มีขนาดกลางถึงขนาดย่อม
ตลาด MAI คืออะไร
ตลาด MAI เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย มีชื่อเต็มว่า Market for Alternative Investment หรือตลาดเพื่อการลงทุนทางเลือก(บางคนอาจเรียกว่าตลาดใหม่)
หุ้นในตลาด MAI จะเป็นหุ้นของธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม คือมีทุนที่ชำระแล้วขั้นต่ำเพียงแค่ 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น น้อยกว่าของตลาดหลักอย่าง SET ที่จะต้องมีทุนชำระแล้ว 300 ล้านบาทขึ้นไป
จุดประสงค์ของตลาด MAI ก็คือทำให้ธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อมที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนนอกเหนือจากการกู้ยืมธนาคารได้ รวมถึงเป็นการสร้างทางเลือกให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนในธุรกิจได้มากกว่าเดิมอีกด้วย
ตลาดหุ้นไทยเปิด/ปิดกี่โมง
สำหรับนักลงทุนทั่วไป หลักๆแล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเปิดให้นักลงทุนทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็น 2 ช่วงเวลาคือช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยจะแบ่งเป็นช่วงเวลาดังนี้
- (09:55-10:00) จนถึง 12:30 เป็นเวลาการซื้อขายช่วงเช้า
- (14:25-14:30) จนถึง (16:35-16:40) เป็นเวลาการซื้อขายช่วงบ่าย
แต่บางคนอาจจะสงสัยต่อว่า ช่วงเวลา 5 นาทีก่อนเปิดตลาด และ 5 นาทีก่อนปิดตลาดมันคืออะไร มีไว้ทำไม? เรามาลงรายละเอียดการแบ่งช่วงเวลาเปิดปิดของตลาดหลักทรัพย์กันครับว่าจริงๆแล้วเค้าแบ่งช่วงเวลาทำการในช่วงต่างๆไว้ยังไงบ้าง
จริงๆแล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแบ่งช่วงเวลาทำการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการซื้อชายหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเกิดความโปร่งใสไว้เป็น 8 ช่วงเวลา ได้แก่
- ช่วงเวลาก่อนเปิดทำการช่วงที่ 1 (Pre-Open session I)
- ช่วงเวลาทำการช่วงที่ 1 (Trading Session I)
- ช่วงหยุดพักการซื้อขาย (Intermission)
- ช่วงก่อนเปิดทำการช่วงที่ 2 (Pre-Open session II)
- ช่วงเวลาทำการช่วงที่ 2 (Trading session II)
- ช่วงก่อนปิดการทำการ (Pre-Close)
- ช่วงนอกเวลาทำการ(Off-Hour)
- ปิดทำการซื้อขาย
ช่วงเวลาก่อนเปิดทำการช่วงที่ 1 (Pre-Open session I)
ช่วงเวลา Pre-open 1 คือช่วงเวลาก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะเปิดทำการในรอบเช้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09:30 ไปจนถึงเวลา “T1”
ระบบของตลาดหลักทรัพย์จะใช้ช่วงเวลา Pre-open I นี้ในการคำนวณหาราคาเปิดของหลักทรัพย์แต่ละตัวด้วยวิธีการที่เรียกว่า Auction ซึ่งเป็นการตับคู่เพื่อซื้อขายครั้งเดียวเมื่อเปิดทำการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์จะส่งคำสั่งซื้อขายเข้ามา ซึ่งอาจจะเป็นคำสั่งประเภทระบุราคาหรือประเภท ATO เข้ามาในตลาด
หลังจากนั้นระบบเบื้องหลังของตลาดหลักทรัพย์จะเอาคำสั่งซื้อขายทั้งหมดมาเรียงตามลำดับของราคาและเวลาที่ดีที่สุดโดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณหาราคาเปิดอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมตามที่ตลาดหลักทรัพย์แหล่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ เพื่อที่จะได้ราคาหลักืรัพย์ตามอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริงของนักลงทุนในตลาด
ในช่วงเวลาก่อนเปิดทำการนี้ นักลงทุนจะสามารถส่งคำสั่งซื้อ/ขายเข้ามายังระบบได้ แต่จะยังไม่สามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์ได้จนกว่าจะถึงเวลา “T1”
เวลาที่เรียกว่า T1 จะถูกสุ่มขึ้นมาโดยระบบจะเลือกเอาเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงเวลา 09:55-10:00 ของแต่ละวันเพื่อเป็นเวลาเปิดให้เริ่มการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
สมมุติว่าในวันนั้นระบบสุ่มเลือกเอาเวลา 09:58 ขึ้นมาเพื่อเริ่มเปิดตลาดให้นักลงทุนซื้อขายกันได้ เวลา 09:58 นี้ละครับ คือเวลา T1 ของวันนั้น และวันต่อๆไประบบก็จะสุ่มเวลาขึ้นมาอีกเรื่อยๆ
ช่วงเวลาทำการช่วงที่ 1 (Trading Session I)
พอถึงเวลา T1 ปุ๊บ ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาทำการในช่วงเช้าหรือเรียกว่า Trading Session I ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์นั้นเปิดตลาดให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นกันได้ในเวลาทำการช่วงเช้า
วิธีการซื้อขายที่ระบบจะใช้ในช่วงเวลาทำการนี้เป็นการซื้อขายด้วยการจับคู่อัตโนมัติ(Automatic Order Matching)สำหรับการซื้อขายทั่วๆไปและจะใช้วิธีการซื้อขายด้วยการบันทึกการซื้อขาย(Trade Report)สำหรับการซื้อขายรายใหญ่และอื่นๆ
ช่วงเวลาทำการช่วงที่ 1 นี้จะกินเวลาตั้งแต่ T1 ไปจนถึง 12:30 ของแต่ละวันทำการ และจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า Intermission
ช่วงหยุดพักการซื้อขาย (Intermission)
เมื่อถึงเวลา 12:30 ของในแต่ละวันทำการ จะเป็นช่วงเวลาหยุดพักการซื้อขาย หรือเรียกว่า Intermission หรือก็คือการพักเที่ยงนั่นเอง
ช่วงเวลา Intermission จะกินเวลาตั้งแต่ 12:30 ไปจนถึงเวลา 14:00 แล้วจึงจะเข้าสู่ช่วงเวลาก่อนเปิดทำการช่วงที่ 2 หรือ Pre-open session II
ช่วงก่อนเปิดทำการช่วงที่ 2 (Pre-Open session II)
เหมือนกันกับช่วงเช้าครับ ช่วงเวลาก่อนเปิดทำการในช่วงที่ 2 คือช่วงเวลาสั้นๆก่อนที่จะเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์กันในภาคบ่าย
ช่วง Pre-open session II จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 14:00 และจบที่เวลา “T2” ด้วยจุดประสงค์เดิมก็คือเพื่อที่ระบบจะได้คำนวณราคาเปิดสำหรับการซื้อขายในภาคบ่ายด้วยวิธีการ Auction เหมือนกับตอนเช้า
ระบบของตลาดหลักทรัพย์จะทำการสุ่มเวลาอีกครั้งนึงเพื่อใช้เป็นเวลาเริ่มทำการในภาคบ่าย ซึ่งมีชื่อเรียกเวลานี้ว่า “T2”
โดยการสุ่มนั้น ทางระบบจะเลือกสุ่มเอาเวลาใดเวลาหนึ่งในระหว่างช่วง 14:25-14:30 สมมุติว่าในวันนั้น ระบบสุ่มเลือกเวลา 14:27 ขึ้นมาเพื่อเปิดทำการซื้อขายภาคบ่าย เวลา 14:27 ก็จะเป็นเวลา T2 ของวันทำการนั้นๆนั่นเอง
ช่วงเวลาทำการช่วงที่ 2 (Trading session II)
เมื่อถึงเวลา T2 ของแต่ละวัน ตลาดหลักทรัพย์ก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาทำการช่วงที่ 2 หรือช่วงการซื้อขายในภาคบ่าย ซึ่งจะเปิดให้นักลงทุนทำการซื้อขายหลักทรัพย์กันได้ตามปกติ จนถึงเวลา 16:30 ตลาดก็จะเข้าสู่ช่วงก่อนปิดทำการ (Pre-Close)
ช่วงก่อนปิดการทำการ (Pre-Close)
ช่วงเวลาก่อนปิดทำการ (Pre-close) หรือบางคนเรียกว่า Market runoff period เป็นช่วงเวลาก่อนที่ตลาดจะปิดทำการ ช่วงเวลานี้จะเริ่มตั้งแต่ 16:30 จนไปจบที่เวลา T3
ซึ่งเวลา T3 เป็นเวลาปิดทำการที่ระบบของตลาดหลักทรัพย์จะทำการสุ่มเลือกเอาเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างช่วง 16:35-16:40 ของแต่ละวัน เพื่อลดโอกาสในการสร้างราคาปิดจากกลุ่มใดๆ
ระบบจะใช้ช่วงเวลาก่อนปิดทำการเพื่อคำนวณราคาปิดของหลักทรัพย์ในแต่ละวัน โดยนักลงทุนจะยังสามารถส่งคำสั่งซื้อขายเพิ่มเติมได้ตั้งแต่เวลา 16:30 จนถึงเวลา T3
และเมื่อผ่านช่วงเวลา T3 ไปแล้วจะเป็นเวลาปิดตลาด ซึ่งระบบจะทำการจับคู่คำสั่งซื้อขายที่ได้รับมาตั้งแต่ 16:30 ตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้โดยตลาดหลักทรัพย์และคำนวณหาราคาปิดของวันนั้นๆ
ช่วงนอกเวลาทำการ(Off-Hour)
ช่วงนอกเวลาทำการหรือ Off-hour จะเริ่มตั้งแต่เวลา T3 ไปจนถึงเวลา 17:00 ระบบจะทำการบันทึกการซื้อชายรายใหญ่(Board Lot) และ บันทึกการซื้อขายที่เกิดขึ้นนอกเวลาทำการ(Off-hour Trade report)
ปิดทำการซื้อขาย
เมื่อถึงเวลา 17:00 การดำเนินงานหรือการซื้อขายต่างๆก็จะปิดตัวลง
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นมีอะไรบ้าง
ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ
ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคามาจากการที่เราซื้อหุ้นได้ในราคาที่ถูกและสามารถขายออกไปได้ในราคาที่แพงกว่าตอนที่ซื้อมานั่นเองครับ ซึ่งถ้าหุ้นที่เราถือครองอยู่เป็นหุ้นที่ดี มีคนต้องการซื้อเยอะ ราคาหุ้นก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นได้นั้นส่วนใหญ่ก็มาจากความคาดหวังของนักลงทุนว่าในอนาคตหุ้นตัวไหนจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพวกเค้าได้
ถ้าบริษัทที่เราถือครองหุ้นอยู่นั้นมีผลการดำเนินงานที่ดี อยู่ในอุตสาหกรรมที่น่าจะมีการเติบโตได้มากในอนาคต ผู้คนก็จะมีความคาดหวังกับหุ้นของบริษัทนั้นว่าน่าจะทำกำไรได้ จึงมีความต้องการในการซื้อหุ้นเพิ่มมากขึ้น ราคาตลาดของหุ้นก็จะเพิ่มมากขึ้น
นอกจากความคาดหวังในเรื่องของการเติบโตแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอีกอย่างที่ดึงดูดให้คนสนใจหุ้นแต่ละตัวได้และเผลอๆอาจจะเป็นเหตุผลหลักในการลงทุนเลยด้วยซ้ำ นั่นก็คือ“เงินปันผล” นั่นเองครับ
ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend)
เงินปันผล เป็นผลตอบแทนอีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุนในหุ้น ซึ่งเงินปันผลจะเป็นเงินที่แบ่งจากกำไรที่บริษัทนั้นๆได้มาจากการขายสินค้าหรือบริการต่างๆ
นั่นหมายความว่า การที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลออกมาได้นั้น บริษัทจะต้องมีกำไรจากการดำเนินงานในแต่ละปี และถึงแม้ว่าบริษัทจะสามารถทำกำไรได้แต่ก็อาจจะไม่จ่ายเงินปันผลออกมาก็เป็นไปได้เหมือนกัน
แต่การที่บริษัทไม่จ่ายเงินปันผลก็อาจจะเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เพราะจะได้เอากำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยไปลงทุนขยายกิจการเพิ่มเติมเพื่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งมีผลช่วยให้มูลค่าหุ้นเพิ่มสูงขึ้น
นโยบายจ่ายเงินปันผลก็มักจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท บางบริษัทอาจจะมีนโยบายจ่ายเงินปันผลคงที่ เช่น 2 บาทต่อหุ้นในแต่ละงวดปันผล หรือบางบริษัทอาจจะมีนโยบายจ่ายปันผลในอัตราคงที่ เช่น 30% ของกำไรสุทธิในแต่ละงวดปันผล
นอกจากผลตอบแทนหลัก 2 ประเภทที่เขียนมาด้านบนแล้ว การลงทุนในหุ้นก็อาจจะยังมีผลตอบแทนที่ได้มาในรูปแบบอื่นอีก เช่น สิทธิ์ในการจองซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นสามัญในเวลาที่บริษัทต้องการจะเพิ่มทุนหรือออกใบสำคัญแสดงสิทธิในรูปแบบต่างๆ ซึ่งผู้ที่ได้สิทธิแบบนี้ก็มักจะสามารถซื้อหุ้นที่จะออกใหม่ได้ในราคาที่ถูกกว่าการมารอซื้อขายในตลาดรอง จึงเป็นผลให้สามารถทำกำไรได้ง่ายขึ้น
กลุ่มหุ้นมีอะไรบ้าง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดแบ่งหุ้นที่มีลักษณะธุรกิจใกล้เคียงกันออกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม(Industry Groups)ต่างๆไว้เป็น 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก และมีหมวดธุรกิจย่อย(Sector)ในแต่ละกลุ่มรวม 28 หมวดธุรกิจ เพื่อให้เกิดความง่ายในการเปรียบเทียบและนำมาใช้เป็นข้อมูลพิจารณาการลงทุนได้อย่างเหมาะสม
8 กลุ่มอุตสาหกรรมหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
- เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร(AGRO)
- สินค้าอุปโภคบริโภค(CONSUMP)
- กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน(FINCIAL)
- กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม(INDUS)
- อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง(PROPCON)
- ทรัพยากร(RESOURC)
- บริการ(SERVICE)
- เทคโนโลยี (TECH)
เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร(AGRO)
หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การปศุสัตว์ ป่าไม้ อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหมวดอุตสาหกรรมนี้จะประกอบไปด้วย 2 หมวดธุรกิจคือ
- หมวดธุรกิจการเกษตร(Agribusiness)
- หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม(Food & Beverage)
สินค้าอุปโภคบริโภค(CONSUMP)
หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหุ้นของธุรกิจสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค(Consumer product) ต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้ผลิตและเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยแบ่งย่อยเป็น 3 หมวดธุรกิจ ได้แก่
- แฟชั่น(Fashion)
- ของใช้ครัวเรือนและสำนักงาน(Home & Office product)
- ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์(Personal & Pharmaceutical product)
กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน(FINCIAL)
หุ้นธุรกิจการเงิน หรือบางคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่าหุ้นไฟแนนซ์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหุ้นของกิจการที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการเงินการลงทุนต่างๆ เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัย หุ้นในกลุ่มการเงินแบ่งออกเป็น 3 หมวดธุรกิจคือ
- ธนาคาร(Banking)
- เงินทุนและหลักทรัพย์(Financial & Securities)
- ประกันภัยและประกันชีวิต(Insurance)
กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม(INDUS)
หุ้นในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม จะเป็นหุ้นของธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบที่จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยวัตถุดิบดังกล่าวสามารถเป็นได้ทั้งสินค้าขั้นต้นและขั้นกลาง และยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องมือที่จะต้องนำไปใช้ต่อในขั้นตอนต่างๆตามอุตสาหกรรม
หุ้นในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 6 หมวดธุรกิจ ได้แก่
- ยานยนต์(Automotive)
- วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร(Industrial Materials % Machinery)
- บรรจุภัณฑ์(Packaging)
- กระดาษและวัสดุการพิมพ์(Paper & Printing Material)
- ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์(Petrochemical & Chemical)
- เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ(Steel & Metal Product)
อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง(PROPCON)
หุ้นอสังหาฯ น่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คนเล่นหุ้นคุ้นเคยกันดี เนื่องจากในหลายๆปีที่ผ่านมาทำผลงานได้ดีและเป็นที่นิยมของนักลงทุนหลายๆคนโดย
สาเหตุที่เป็นที่นิยมเพราะมักจะเป็นหุ้นของผู้พัฒนาโครงการหมู่บ้าน หรือคอนโดต่างๆที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีและเป็นหุ้นที่มือใหม่สามารถศึกษาวิเคราะห์ได้ไม่ยากนัก เนื่องจากผลประกอบการมักจะสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน
แต่ที่จริงแล้ว หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้มีแค่โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆนะครับ แต่รวมไปถึงหุ้นของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ผู้ให้บริการงานวิศวกรรมก่อสร้างต่างๆและกองทุนรวม กอง REIT ต่างๆอีกด้วย
หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างนี้สามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็น 4 หมวดธุรกิจต่อไปนี้
- วัสดุก่อสร้าง (Construction Material)
- บริการรับเหมาก่อสร้าง(Construction Service)
- พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Property Development)
- กองทุนรวมและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(Property Fund & REIT)
ทรัพยากร(RESOURC)
หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกับหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร แต่ถ้าบอกว่า “หุ้นพลังงาน” ก็น่าจะร้องอ๋อทันที เพราะเป็นที่นิยมแถมมีหุ้นตัวโตๆที่ประกอบกิจการมานานและมั่นคง
ซึ่งหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะเป็นหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการแสวงหาหรือจัดการทรัพยากรต่างๆที่นำมาใช้เป็นพลังงาน เช่นเชื้อเพลิง,แก๊สธรรมชาติ,ไฟฟ้า,ประปา หรือเหมืองแร่ ซึ่งหุ้นในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 หมวดธุรกิจคือ
- พลังงานและสาธารณูปโภค(Energy & Utilities)
- เหมืองแร่ (Mining)
บริการ(SERVICE)
หุ้นในอุตสาหกรรมการบริการเป็นหุ้นของธุรกิจที่ขายการบริการในด้านต่างๆกับลูกค้าเช่น การขนส่ง ห้างสรรพสินค้า หรือที่กำลังมาแรงในช่วงหลังๆก็คือหุ้นในกลุ่ม Healthcare อย่างโรงพยาบาลต่างๆ
หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการนั้นรวมธุรกิจต่างๆไว้หลากหลายมาก แต่จะไม่รวมการบริการทางการเงินหรือหุ้นเทคโนโลยีไว้ในกลุ่มนี้นะครับ เพราะถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะแบบอื่นๆแล้ว
หุ้นที่เกี่วกับธุรกิจการบริการสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 หมวดธุรกิจได้แก่
- บริการการพาณิชย์(Commerce) เช่นค้าปลีก,ค้าส่ง,ขายออนไลน์,ร้านสะดวกซื้อ
- บริการทางการแพทย์ (Health Care Services)
เทคโนโลยี (TECH)
หุ้นเทคโนโลยีเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นของเทคโนโลยีชนิดใหม่ๆอยู่แทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการเงิน การสื่อสาร หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ เช่น Semiconductor
หุ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสามารถแบ่งได้เป็น 2 หมวดธุรกิจคือ
- ชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์(Electronics Component)
- เทคโนโลยีสารสนเทศน์และการสื่อสาร(Information & Communication Technology)
ข้อดีข้อเสียของการลงทุนในหุ้น
ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นจะสามารถทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีได้ แต่ตัวมันเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ทุกคนควรจะรู้ไว้ก่อนเริ่มลงทุน เรามาดูกันครับว่าการลงทุนในหุ้นมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
ข้อดีของการลงทุนในหุ้น
- ไม่ต้องใช้เงินเยอะก็ลงทุนได้
- สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี
- สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้
- ไม่จำเป็นต้องเริ่มบุกเบิกธุรกิจเอง
- ซื้อขายได้ง่าย
ไม่ต้องใช้เงินเยอะก็ลงทุนได้
หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าจะเล่นหุ้นต้องใช้เงินขั้นต่ำเท่าไหร่ แต่จริงๆแล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ได้มีการกำหนดเงินขั้นต่ำที่จะต้องใช้ในการเปิดบัญชีหุ้นไว้ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของโบรกเกอร์แต่ละเจ้าว่ามีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำไว้หรือไม่
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถ้าจะมีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับเปิดบัญชีหุ้นก็จะเป็นเงินมูลค่าไม่เยอะ ซึ่งทำให้คนทั่วไปเข้าถึงโอกาสการลงทุนในหุ้นได้มากยิ่งขึ้น ไม่ต้องใช้เงินทุนเยอะก็สามารถเริ่มลงทุนได้
ถึงแม้การลงทุนในหุ้นจะสามารถเริ่มด้วยเงินไม่มากได้ แต่การเริ่มลงทุนด้วยจำนวนเงินน้อยๆก็มักจะเป็นข้อจำกัดทำให้นักลงทุนสามารถซื้อหุ้นได้ตัวเดียวและเป็นจำนวนไม่มาก
นั่นแปลว่าจะมีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะเพราะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนอยู่กับหุ้นเพียงตัวเดียว ในกรณีนี้ถ้าเป็นนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญการวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นก็สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้โดยการหันไปซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงได้เหมือนกัน
สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี
การลงทุนในหุ้นสามารถให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เพื่อการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่นกองทุนรวม,ทองคำ หรือตราสารหนี้
โดยเฉพาะถ้าหากใครเป็นนักลงทุนที่มีวินัยมีความรู้และเลือกหุ้นได้ถูกตัว ในระยะยาวก็อาจจะสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในอัตรา 8-10% ต่อปีแบบทบต้นทีเดียว
ซึ่งอัตราผลตอบแทนในระดับนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยากในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนชนิดอื่นๆ แต่เราจะไม่นำ Cryptocurrency หรือการลงทุนใน DeFi มาคิดรวมนะครับ เพราะยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของกฎหมายและทิศทางการลงทุนรวมถึงความเสี่ยงที่สูงกว่าหุ้นเยอะพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวที่ได้ในอัตรา 8-10% ต่อปีแบบทบต้นนั้นอาจจะดูไม่สูงมากนัก แต่ก็สามารถทำให้เงินของท่านงอกเงยได้ในรูปแบบ Passive Income และที่สำคัญมันเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยและสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้
เงินเฟ้อเปรียบเสมือนศัตรูที่มองไม่เห็นของทุกคนที่มีเงินอยู่ในกระเป๋า เนื่องจากเงินเฟ้อจะทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็ต่ำจนไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อในแต่ละปีได้อีกต่อไป
นั่นคือสาเหตุว่าทำไมเราต้องหาวิธีการลงทุนที่จะเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นนั้นค่อนข้างจะตอบโจทย์เรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด
ด้วยความที่ผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นนั้นสามารถทำได้ในระดับ 8-10% ต่อปีแบบทบต้น ซึ่งถ้าหากเรามีความรู้และวินัยในการลงทุนในระยะยาวนอกจากจะเอาชนะเงินเฟ้อได้แล้ว ก็ยังสามารถสร้างกำไรให้เราได้เสมือนการทำธุรกิจเลยทีเดียว
ไม่จำเป็นต้องเริ่มบุกเบิกธุรกิจเอง
หลายๆคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน เมื่อทำงานประจำไปซักระยะหนึ่งก็อาจจะเริ่มมองหาช่องทางขยับขยายการหารายได้ของตัวเองเพื่อที่จะมีอิสรภาพทางการเงินและเกษียณอายุได้เร็วขึ้น
หนึ่งในตัวเลือกที่หลายๆคนอยากทำก็คือลาออกแล้วมาทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควร เพราะคนที่เริ่มทำธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องฝ่าฟันปัญหาหลากหลายก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งถ้าลาออกมาจากงานประจำแล้วก็จะทำให้ขาดรายได้ที่เคยมีและเกิดความเครียดขึ้นได้
นอกจากจะขาดรายได้แล้ว ก็อาจจะทำให้พลาดสิทธิประโยชน์ต่างๆของคนที่เป็นพนักงานบริษัทไปด้วย เช่น ประกันสังคม,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือประกันสุขภาพที่เป็นสวัสดิการบริษัท
เพราะฉะนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วๆไปที่อยากลงทุนก็คือทำงานประจำไปด้วยและหาช่องทางลงทุนหรือทำธุรกิจไปด้วยพร้อมๆกัน และถ้าหากใครอยากจะทำธุรกิจแต่ไม่มีความถนัด หรือไม่อยากเริ่มบุกเบิกธุรกิจด้วยตัวเอง การลงทุนในหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย
แต่สิ่งที่สำคัญมากๆก็คือก่อนจะลงทุนก็ควรจะต้องหาความรู้ก่อน เพราะถ้าเราลงทุนโดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจแล้วก็อาจจะขาดทุนจนหมดตัวได้เหมือนกัน
ซื้อขายได้ง่าย
หุ้นเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูง คือสามารถเปลี่ยนกลับเป็นเงินสดได้ง่าย ไม่เหมือนกับทรัพย์สินชนิดอื่นๆ เช่นอสังหาริมทรัพย์,วัตถุโบราณหรือของสะสมเช่นนาฬิกา,กระเป๋าแบรนด์เนม
เมื่อหุ้นเป็นทรัพย์สินที่สามารถซื้อง่ายขายคล่องก็หมายความว่า หากคุณนำเงินมาลงทุนในหุ้นไว้ในระยะยาวและเกิดมีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินที่จะต้องใช้เงินสด คุณก็อาจจะขายหุ้นบางส่วนออกมาได้โดยไม่ต้องใช้เวลามากเหมือนกับการประกาศขายที่ดิน,นาฬิกา,หรือทรัพย์สินอย่างอื่น
ข้อเสียของการลงทุนในหุ้น
ผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน
จริงอยู่ที่การลงทุนระยะยาวในหุ้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นที่น่าพอใจได้ แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่หวังผลในระยะสั้น การลงทุนในหุ้นอาจจะทำให้คุณผิดหวังได้
เพราะผลตอบแทนที่ได้ในแต่ละปีอาจจะมีทั้งบวกและลบ ซึ่งถ้านักลงทุนคนไหนที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนหรือความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในรูปแบบนี้อย่างจริงจังก็อาจจะถอดใจไปก่อนได้
เพราะหลายๆคนหวังว่าจะเข้ามาในตลาดหุ้น เทรดหุ้นรายวันและกอบโกยกำไรเป็นกอบเป็นกำได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่เมื่อเจอความเป็นจริงของตลาดเข้าไปก็อาจจะเลิกลงทุนไปเลยก็มี
แต่ถ้าคุณศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นให้ประสบความสำเร็จ ก็จะเห็นได้ว่า นักลงทุนที่ร่ำรวยจากหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนที่มีความรู้และมีวินัยในการลงทุนระยะยาว ซึ่งคนเหล่านี้มักเป็นคนส่วนน้อย
ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่หลายคนรู้ดีว่าคนที่ได้กำไรและร่ำรวยจากหุ้นมีส่วนน้อย คนส่วนใหญ่มักจะขาดทุนและไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่จริงๆแล้วถ้าเราแค่ทำความเข้าใจและมีสินัยการลงทุน เส้นทางที่จะทำกำไรให้เรานั้นมันอยู่ตรงหน้าแล้ว เพียงแต่เราเลือกที่จะมองหาและเดินไปในทางลัดที่อาจจะไม่มีอยู่จริง
ใช้เวลานาน
การลงทุนในหุ้นเพื่อที่จะประสบความสำเร็จและมีความมั่งคั่งจนพบกับอิสรภาพทางการเงินนั้นต้องใช้เวลาให้เงินทำงานนานพอสมควร อาจจะกินเวลาเป็นหลักสิบปีขึ้นไป จนบางคนอาจจะถอดใจไปซะก่อน
เพราะถ้าคุณลงทุนในระยะยาวเพื่อนำเงินปันผลและกำไรในรูปแบบต่างๆมาลงทุนซ้ำๆเพื่อให้ได้ผลตอบแทนแบบทบต้นก็จะต้องใช้เวลานานพอสมควรเพื่อจะให้เงินทำงานและเพิ่มมูลค่าของตัวเองไปเรื่อยๆ
ถ้าคุณเป็นคนที่เข้ามาตลาดหุ้นเพื่อลงทุนในรูปแบบของการลุ้นด้วยการหาเทรดหุ้นไปในแต่ละวันเพื่อหวังผลกำไรอย่างรวดเร็ว คุณอาจจะพบเจอกับการขาดทุนจนเข้าใจผิดไปว่าการเล่นหุ้นคือการพนันและล้มเลิกความต้องใจที่จะสร้างความมั่งคั่งไป
นั่นจึงเป็นที่มาของคำแนะนำว่าคนที่เป็นพนักงานประจำและอยากลงทุนในหุ้น ไม่ควรจะลาออกจากงานแล้วมานั่งเทรดหุ้น แต่ให้แบ่งเวลาจากงานประจำมาศึกษาหาข้อมูลและใช้รายได้จากการทำงานหรือทำธุรกิจเสริมอื่นๆมาค่อยๆลงทุนในหุ้นที่เราพิจารณาแล้วว่าเป็นหุ้นที่ควรจะลงทุน
หากเราสามารถรักษาวินัยการลงทุนได้ดีในระยะยาว พอร์ตของเราก็จะค่อยๆโตขึ้นด้วยอัตราผลตอบแทนแบบทบต้นไปเรื่อยๆทุกปีจนสามารถมีอินสรภาพทางการเงินได้ในที่สุด และเมื่อถึงเวลานั้น คุณก็จะมีสิทธิเลือกอย่างสบายใจว่าจะทำงานประจำต่อไปหรือไม่
หุ้นมีความผันผวนสูง
ราคาหุ้นมีความผันผวน ขึ้นลงได้ตลอดเวลาที่ตลาดเปิดทำการซื้อขาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนไม่สามารถควบคุมได้และไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำจริงๆ
ซึ่งความผันผวนของราคาหุ้นดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการขาดทุนได้ถ้าหากนักลงทุนไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในหุ้นตัวนั้นๆหรือเลือกซื้อหุ้นแต่ละตัวด้วยเหตุผลจากการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง
ความผันผวนของราคาหุ้นมักจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนที่เข้าหวังจะมาเก็งกำไรหุ้ยในระยะสั้นๆขาดทุนและถอดใจจากตลาดไป
แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนที่ลงทุนด้วยความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ศึกษาและวิเคราะห์หุ้นเพื่อทำการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวมักจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้นเท่าไหร่นัก เพราะผลตอบแทนในระยะยาวของหุ้นที่มีพื้นฐานเหมาะสมกับการลงทุนนั้นค่อนข้างจะเอาชนะความผันผวนของตลาดได้
เพราะฉะนั้น ถ้าหากนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนในหุ้นและสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้อย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ การหวังผลกำไรจากส่วนต่างราคาอย่างเดียวในระยะสั้นๆอาจจะทำให้พอร์ตของคุณมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก
ถ้าไม่มีความรู้อาจจะหมดตัวได้
ข้อนี้น่าจะเป็นข้อที่สำคัญที่สุดและเป็นข้อที่คนส่วนใหญ่มองข้ามเยอะที่สุดก็ว่าได้ เพราะเมื่อพูดถึงการลงทุนในตลาดหุ้น หลายๆคนก็มักจะคิดอย่างเดียวว่า ต้องมีเงิน ต้องมีข่าววงใน หรือต้องซื้อหุ้นตามเซียน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนในหุ้น หรือไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบไหนก็ตามคือความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับทรัพย์สินชนิดนั้นๆต่างหากครับ
แน่นนอนว่าถ้าเป็นคนที่มีเงินพร้อมลงทุนเป็นจำนวนมากก็เป็นเรื่องดี เพราะยิ่งทุนมากก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาได้มากในเวลาที่น้อยกว่าคนที่มีทุนน้อยหรือยังไม่มีเงินลงทุน
แต่อย่าลืมว่าถึงแม้คุณจะมีเงินเริ่มลงทุนเยอะ แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์และเลือกซื้อหุ้น สุดท้ายคุรอาจจะแค่เอาเงินที่มีอยู่นั้นซื้อขายหุ้นไปมาหลายๆรอบจนขาดทุนหมดก็เป็นได้
ในทางกลับกัน หากคุณยังไม่มีเงินทุนแต่คุณเริ่มจากการศึกษาพื้นฐานทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น เพื่อจะนำไปสู่การสร้างความสามารถในการประเมินมูลค่าและเลือกซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในระยะยาวคุณอาจจะทำเงินจากชุดความรู้ความสามารถที่คุณสร้างขึ้นมาใหม่นี้ได้โดยการทำช่อง Youtube, Podcast หรือทำเว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุนและสร้างรายได้จากโฆษณา
หลังจากนั้น คุณก็ค่อยเอาเงินที่ได้มาไปรวมกับรายได้จากงานประจำ แบ่งมาลงทุนทุกๆเดือนเพื่อให้พอร์ตเติบโตไปเรื่อยๆ สร้างผลตอบแทนแบบทบต้นไปในแต่ละปี เพียงแค่นี้คุณก็จะสามารถสร้างพอร์ตหุ้นที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและสร้างความมั่งคั่งได้ในที่สุด
ทั้งหมดที่เขียนมานั้นก็คือก้าวแรกของการเริ่มต้นลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งจริงๆแล้วยังมีความรู้อีกหลายๆอย่างที่นักลงทุนมือใหม่ควรจะทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะเริ่มใส่เงินลงทุนเข้าไปครับ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงแบบต่างๆของการลงทุนในหุ้น อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ และอื่นๆ
เพราะเป้าหมายสุดท้ายจริงๆของการหาความรู้ก่อนลงทุนก็คือเราต้องรู้วิธีการหาหุ้นที่จะลงทุนและต้องสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นได้ด้วยตัวเอง
References