กองทุนหุ้นคืออะไร
กองทุนหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้น(Equity Fund) คือกองทุนรวมชนิดหนึ่งที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนแบบต่างๆ เช่นหุ้นสามัญ,หุ้นบุริมสิทธิหุ้นบุริมสิทธิหุ้นบุริมสิทธิ,ใบสำคัญแสดงสิทธิ(Warrant) เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)ของกองทุน
กองทุนหุ้นสามารถลงทุนในหุ้นของกิจการได้ทั้งในและต่างประเทศครับ ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละกอง
ที่สำคัญกองทุนรวมหุ้นบางประเภทนั้นได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย เช่น กองทุน RMF และ SSF
กองทุนรวมหุ้นเป็นกองทุนรวมประเภทที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาการลงทุนในกองทุนรวม เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง และคนก็คุ้นเคยกับหุ้นกันดีอยู่แล้ว
แน่นอนว่าผลตอบแทนสูงมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง กองทุนหุ้นจึงเหมาะผู้ที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงและสามารถลงทุนในระยะยาวได้
สาเหตุที่กองทุนหุ้นมีความเสี่ยงสูงก็เนื่องมาจากราคาของตราสารทุนสามารถมีความผันผวนได้มากกว่าทรัพย์สินการลงทุนอื่นๆเช่นกองทุนตราสารหนี้
แต่ด้วยความที่เป็นกองทุนรวม ประเภทหนึ่ง จึงทำให้แม้ราคาหุ้นจะมีความผันผวนแต่การลงทุนก็ยังมีความปลอดภัยสูงในระดับที่มือใหม่สามารถลงทุนได้ เพราะกองทุนรวมหุ้นมักจะมีการลงทุนในหุ้นหลายๆตัวทำให้กระจายความเสี่ยงได้ดี
และอีกเหตุผลนึงที่ทำให้กองทุนหุ้นสร้างผลตอบแทนได้ดีและมีการจัดการความเสี่ยงได้ดีด้วยก็คือ เงินลงทุนที่เหลือจากเกณฑ์ 65% สามารถนำไปลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นได้ เช่น ตราสารหนี้ต่างๆ(หุ้นกู้,พันธบัตร)ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่า
หรือจะเอาไปลงทุนในตราสารทุน(หุ้น)ทั้งหมดเลยก็ได้ แล้วแต่นโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุน
กองทุนหุ้นมีกี่ประเภท
กองทุนหุ้นมีทั้งหมด 4 ประเภทแบ่งตามลักษณะการลงทุน ได้แก่
- กองทุนหุ้นที่ลงทุนในประเทศ
- กองทุนหุ้นต่างประเทศ
- กองทุนหุ้นเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Fund)
- กองทุนหุ้นดัชนี (Index Fund)
กองทุนรวมหุ้นในประเทศ
กองทุนหุ้นในประเทศคือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งก็จะแบ่งได้อีก 3 อย่างคือ
- กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity large cap)
- กองทุนรวมหุ้นขนาดเล็ก-กลาง (Equity Small-Mid cap)
- กองทุนหุ้นทั่วไป (Equity General)
กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity large cap)
กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ คือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยที่อยู่ใน SET50 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพ์สินสุทธิของกองทุน(NAV)
กองทุนหุ้นประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่เน้นการได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมากกว่าการทำกำไรจากส่วนต่างของราคาหน่วยลงทุนครับ
สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะว่าบริษัทในกลุ่ม SET50 มักจะเป็นบริษัทที่ผ่านการเติบโตของกิจการมาจนบริษัทมีความมั่นคงแล้ว นั่นแปลว่าอัตราการเติบโตของบริษัทในกลุ่มนี้จะไม่ได้เติบโตมากอย่างเห็นได้ชัด
ผลตอบแทนที่ส่งออกมาจึงเป็นในรูปแบบของการปันผลจากการทำกิจการมากกว่าการเติบโตจากมูลค่ากิจการ
ข้อดีอีกอย่างของกองทุนหุ้นขนาดใหญ่(Equity Large Cap) ก็คือ หุ้นที่กองทุนนำเงินไปลงทุนมักจะเป็นหุ้นที่มีศักยภาพเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมในแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว
และเมื่อเป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่และสามารถขึ้นเป็นเบอร์แรกๆของกลุ่มอุตสาหกรรมได้ ก็แน่นอนว่าย่อมเป็นเป้าหมายหลักๆเลยของเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเงินทุนใหญ่ๆเลยที่มีผลกับตลาดการลงทุนของไทยพอสมควร
สิ่งนึงที่นักลงทุนต้องระวังก็คือในกรณีที่สภาวะเศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ หรืออัตราดอกเบี้ย,เงินเฟ้อต่างๆ มีความผันผวน ก็อาจจะกระทบกับเม็ดเงินต่างชาติเหล่านี้ได้เหมือนกัน
แต่ด้วยความที่ตัวหุ้นของกิจการที่อยู่ในกลุ่มนี้เป็นหุ้นพื้นฐานดีอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีความผันผวนของปัจจัยต่างๆที่อาจมีผลทำให้ขาดทุนบ้างในบางช่วง แต่ก็ไม่ต้องกังวลครับเพราะในระยะยาวแล้วสร้างผลตอบแทนได้ดีแน่นอน ลงทุนแล้วนอนหลับสบาย
กองทุนรวมหุ้นขนาดเล็ก-กลาง (Equity Small-Mid cap)
กองทุนหุ้นขนาดเล็ก-กลางคือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยที่มีมูลค่าตลาดไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท โดยจะลงทุนในหุ้นลักษณะดังกล่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)ของกองทุน
กองทุนหุ้นประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลมากนัก แต่เน้นการทำกำไรจากส่วนต่างราคาหน่วยลงทุนมากกว่า
สาเหตุเพราะว่า บริษัทที่อยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดเล็กถึงกลางมักจะอยู่ในช่วงที่กิจการกำลังขยายตัวและมีการเติบโตทางมูลค่ากิจการ ซึ่งหากได้กำไรมาก็จะต้องนำกำไรนั้นกลับเข้าไปลงทุนต่อ
เมื่อมีการลงทุนต่อเรื่อยๆก็จะทำให้กิจการมีการเติบโตขึ้น ส่งผลไปถึงราคาหุ้นและราคากองทุน ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)ของกองทุนเพิ่มขึ้นนั่นเองครับ
ข้อดีของการลงทุนในกองทุนหุ้นขนาดเล็ก-กลางก็คือเวลาศึกษากองทุนผ่านหนังสือชี้ชวน(Fund Fact Sheet)นักลงทุนจะวิเคราะห์ธุรกิจและตัดสินใจเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้น
สาเหตุก็เพราะว่าธุรกิจขนาเล็ก-กลางมักจะเป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย ไม่มีการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทลูกต่างๆให้ซับซ้อน และทำให้การอ่านงบการเงินง่ายขึ้นเยอะ เหมาะสำหรับมือใหม่
และด้วยความที่กิจการยังมีมูลค่าไม่มาก ทำให้เวลามีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ จะทำให้ราคาหุ้นขนาดเล็ก-กลางมีความผันผวนที่เยอะกว่าหุ้นขนาดใหญ่
ผู้จัดการกองทุนต่างๆก็จะฉวยโอกาสจากความผันผวนดังกล่าวในการซื้อ/ขายเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคา(Capital Gain) และเมื่อได้กำไรมาก็นำไปลงทุนในหุ้นตัวต่อๆไป ทำให้มูลค่า NAV เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จากความผันผวนและอัตราการเจริญเติบโตของกิจการขนาดเล็ก-กลางเหล่านี้นี่ล่ะครับที่เป็นโอกาสในการสร้างกำไรและทำให้กองทุนหุ้นประเภทนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุนหุ้นขนาดใหญ่
สำหรับนักลงทุนท่านไหนที่อยากจะลงทุนในหุ้นประเภทนี้แต่อยากจะประหยัดเวลาเพื่อไปทำอย่างอื่น หรือไม่ถนัดที่จะบริหารพอรต์หุ้นด้วยตัวเอง การเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นประเภทนี้ก็น่าสนใจมากเลยครับ
กองทุนหุ้นทั่วไป (Equity General)
กองทุนหุ้นทั่วไปคือกองทุนรวมหุ้นประเภทที่สามารถลงทุนในตราสารทุน(หุ้น)ได้ทุกประเภท ทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็น SET หรือ MAI ทั้งหุ้นขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
ซึ่งกองทุนประเภทนี้เป็นกองทุนที่มีจำนวนมากที่สุดในตลาดกองทุนรวม บลจ.ต่างๆนิยมที่จำนำเสนอมาออกขายให้นักลงทุนเพราะมีความยืดหยุ่นในนโยบายการลงทุนสูง สามารถลงทุนได้หลากหลาย
กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ
กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศคือกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในตราสารทุน(หุ้น)ของประเทศต่างๆ หรืออาจะเป็นการนำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นของประเทศนั้นๆ เรียกว่า Feeder Fund นั่นเอง
การลงทุนในกองทุนหุ้นประเภทนี้สามารถช่วยเพิ่มโอกาสและตัวเลือกในการลงทุนของนักลงทุนไปในต่างประเทศได้ง่ายกว่าการไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ(Offshore)โดยตรงด้วยตัวเอง
ประโยชน์ของการมีโอกาสดังกล่าวก็คือ ในแต่ละประเทศนั้นอาจจะมีสภาวะเศราฐกิจต่างกัน ในบางประเทศอาจจะมีเศรษฐกิจซบเซาแต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจกลับเป็นขาขึ้นในอีกประเทศนึง
เพราะฉะนั้น หากนักลงทุนมีการแบ่งการลงทุนไว้ในกองทุนประเภทนี้อยู่บ้าง ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีและอาจจะทำให้พอร์ตไม่ติดลบหนักจนเกินไปเวลาเศรษฐกิจอยู่ในขาลง
แต่อย่างไรก็ตาม การจะนำเงินของเราไปลงทุนในต่างประเทศก็ต้องเลือกกองทุนให้ดีและมีความเข้าใจในหุ้นที่กองทุนนำเงินไปลง ไม่งั้นอาจจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีครับ
อีกข้อที่นักลงทุนต้องรู้ก็คือ การลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศมักจะมาพร้อมกับค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆเกี่ยวกับกองทุนที่สูงกว่ากองทุนในประเทศ
เพราะมักจะต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียม 2 ครั้งจากกองทุนแม่ในต่างประเทศและ จากกองทุนที่เราซื้อหน่วยลงทุน ยังไม่รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยเหล่านี้เป็นต้นทุนในการลงทุนของเราทั้งสิ้น
ในปัจจุบัน กองทุนรวมหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศมีอยู่ทั้งหมด 9 ประเภท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแบ่งประเภทตามประเทศที่กองทุนนำเงินไปลงทุน
- กองทุนหุ้นจีน Greater China Equity
- กองทุนหุ้นเวียดนาม (Vietnam Equity)
- กองทุนหุ้นอินเดีย (India Equity)
- กองทุนหุ้นกลุ่มเอเชียแปซิฟิค
- กองทุนหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว(Global Equity)
- กองทุนหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่(Emerging Market)
- กองทุนหุ้นญี่ปุ่น (Japan Equity)
- กองทุนหุ้นอเมริกา (US Equity)
- กองทุนหุ้นยุโรป (European Equity)
กองทุนหุ้นจีน Greater China Equity
กองทุนหุ้นจีนกลุ่ม Greater China คือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของประเทศ จีน,ฮ่องกงและไต้หวัน มากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)ของกองทุน
กองทุนหุ้นจีนนี่เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ได้รับความสนใจจากคนไทยมากเลยครับ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมหลายอย่าง และมีตลาดกองทุนให้เลือกเยอะ
กองทุนหุ้นเวียดนาม (Vietnam Equity)
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนกิจการประเทศเวียดนามไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆอยู่ตลอด และได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐในเรื่องกฎระเบียบและข้อตกลงทางการค้า และประชากรก็อยู่ในวันทำงานเป็นส่วนใหญ่
ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักประเทศนึงในเอเชีย โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ร่วมกับปัจจัยทางด้านที่ตั้งของประเทศ ที่อยู่ไกล้กับตลาดใหญ่อย่างจีน และมีพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้เปรียบในเรื่องของการขนส่งสินค้าไปประเทศต่างๆ
กองทุนหุ้นอินเดีย (India Equity)
เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนในประเทศอินเดียไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
อินเดียเป็นอีกประเทศนึงที่มีศักยภาพและปัจจัยพื้นฐานไกล้เคียงกับประเทศจีน ทั้งในเรื่องของจำนวนประชากร และส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน
ด้วยความที่มีปัจจัยต่างๆใกล้เคียงกับจีน และอาศัยข้อได้เปรียบที่รัฐบาลจีนเริ่มมีการออกมาตรการควบคุมต่างๆเกี่ยวกับกิจการเอกชนทำให้นักลงทุนเริ่มระวังการลงทุนมากขึ้น
จึงทำให้อินเดียเป็นอีก 1 ประเทศที่นักลงทุนที่มองหาการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การเงิน,พลังงาน,เทคโนโลยี
กองทุนหุ้นกลุ่มเอเชียแปซิฟิค(ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น)
เป็นกองทุนรวมที่มี่นโยบายลงทุนในตราสารทุนในกลุ่มประเทศฮ่องกง,สิงค์โปร,ไต้หวัน,เกาหลี มากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (แต่จะลงทุนในญี่ปุ่นแค่ไม่เกินร้อยละ 10 ของทรัพย์สินสุทธิหรือไม่ลงทุนเลย)
ด้วยความที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเป็นตลาดเกิดใหม่(Emerging Market) ซึ่งมีหลายๆปัจจัยที่พอจะเชื่อได้ว่าในอนาคตอันไกล้น่าจะเติบโตได้ดี
รวมถึงบริษัทนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างๆ ก็เชื่อว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตต่อไปในอนาคตเพราะอุตสาหกรรมต่างๆขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความที่เป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศเอเชียแฟซิฟิกก็เป็นการลงทุนอีกอย่างนึงที่น่าสนใจ
กองทุนหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว(Global Equity)
เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น,แคนาดา,อเมริกา,ออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์ รวมถึงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
หุ้นในกลุ่มประเทศนี้ที่นักลงทุนรู้จักกันดีได้แก่หุ้นในดัชนี MSCI world และ ACWI
กองทุนหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่(Emerging Market)
กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนในกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ เช่นประเทศในกลุ่มทวีปละตินอเมริกา,ตะวันออกกลาง,ยุโรป,แอฟริกาและทวีปเอเชีย
กลุ่มหุ้นที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดีในกลุ่มที่กองทุนประเภทนี้ได้แก่หุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI Emerging Market
กองทุนหุ้นญี่ปุ่น (Japan Equity)
เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนประเทศญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
กองทุนหุ้นสหรัฐอเมริกา (US Equity)
กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนประเทศอเมริกามากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
การลงทุนในอุตสาหกรรมจากประเทศมหาอำนาจนอกจากประเทศจีนแล้วก็มีกองทุนหุ้นสหรัฐนี่ล่ะครับที่เป็นโอกาสในการลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยไทย
กลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของอเมริกาก็คืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเกี่ยวกับผู้บริโภค(Consumer Technology) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ
กองทุนหุ้นยุโรป (European Equity)
กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนกลุ่มประเทศยุโรปมากกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศยุโรปอาจจะไม่ค่อยมีเหตุการณ์หรือปัจจัยรอบด้านเกี่ยวกับการลงทุนที่น่าตื่นตาตื่นใจมากนัก แถมเพิ่งเริ่มฟื้นจากช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาได้ไม่นาน
แต่ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กลุ่มประเทศยุโรปก็เป็นอีกกลุ่มนึงที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เพราะสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งหลายบวกกับปัจจัยพืนฐานที่ดีอยู่แล้ว จึงค่อนข้างเชื่อได้ว่าน่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจตามมา
โดยเฉพาะระยะหลังๆ มีการส่งเสริมจากภาครัฐในเรื่องต่างๆเช่นนโยบายการเงินการคลัง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใหม่ๆ และการเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล
กองทุนรวมหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม(Sector Fund)
กองทุนรวมหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจใดกลุ่มธุรกิจหนึ่ง(แบ่งตามประเภทที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
กองทุนรวมหุ้นประเภทนี้จะเฟ้นหาหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพเป็นอันดับต้นๆและมีแนวโน้มที่ดีและน่าจะทำกำไรได้มากที่สุดในแต่ละอุตสาหกรรมและส่งเงินเข้าไปลงทุน
แต่ข้อเสียของการลงทุนที่กระจุกตัวแบบนี้ก็คือการกระจายความเสี่ยงจะน้อยกว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นทั่วๆไป แต่ถ้าสามารถวิเคราะห์กิจการและแนวโน้มต่างๆได้ขาดจริงๆก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีไปเลย
ตัวอย่างของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีให้เลือกลงทุนได้แก่ กลุ่มพลังงาน,กลุ่มสุขภาพ(Health Care),กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มธนาคาร
กองทุนหุ้นดัชนี(Index Fund)
กองทุนหุ้นดัชนีคือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี SET50 หรือ SET100 โดยวัตถุระสงค์ก็คือสร้างผลตอบแทนให้ได้ไกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิง
ซึ่งถ้าใครอยากจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับหรือไกล้เคียงกับดัชนีตลาดเหล่านี้ การลงทุนในกองทุนหุ้นดัชนีก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่น่าสนใจ
แต่สิ่งนึงที่นักลงทุนควรรู้ก็คือถึงแม้ว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนประเภทนี้จะได้ไกล้เคียงกับดัชนีตลาด แต่ผลตอบแทนสุทธิจริงๆจะต้องเอาค่าใช้จ่ายมาหักลบออกซะก่อน
นั่นหมายความว่าผลตอบแทนที่ได้จริง อาจจะต่ำกว่าตลาดครับ เพราะฉะนั้นการเลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้ก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายให้ดีด้วย ยิ่งต่ำยิ่งดี
ลงทุนในกองทุนหุ้นหรือหุ้นโดยตรงดีกว่ากัน
หลายๆคนที่สนใจการลงทุนก็คงจะมีคำถามว่าการลงทุนในหุ้น vs กองทุนรวมหุ้น แบบไหนดีกว่ากันและควรจะเลือกแบบไหนดี
คำตอบก็คือการลงทุนทั้ง 2 อย่างมีความเหมาะสมและข้อดีข้อเสียต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะเหมาะสมกับแบบไหน
หากคุณเป็นคนที่ชอบศึกษาเรื่องการเงินการลงทุนอย่างจริงจัง มีเวลาที่จะวิเคราะห์ อ่านงบการเงินของหุ้นรายตัวและสามารถติดตามข่าวสารในประเทศต่างๆได้ การลงทุนในหุ้นโดยตรงด้วยตัวเองก็ดูเป็นอะไรที่น่าสนใจครับ
เพราะถ้าคุณสามารถนำเงินไปลงทุนในหุ้นด้วยตัวเองได้ คุณจะสามารถออกแบบวิธีการลงทุนในแบบของคุณได้อย่างอิสระ และได้ผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนรวม
แต่ถ้าคุณเป็นนักลงทุนรายย่อยทั่วๆไป ที่ทำงานประจำอยู่แล้วและอยากจะเริ่มลงทุนเพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในอนาคต การนำเงินไปลงทุนในหุ้นโดยตรงอาจจะเป็นเรื่องยากนิดนึง
เนื่องจากว่าการใช้เวลาหลักๆในชีวิตของคุณก็คือการทำงานประจำเพื่อสร้างรายได้หลัก นำมาใช้จ่าย เก็บออมและลงทุน และก็คงจะไม่สะดวกมานั่งวิเคราะห์การลงทุนในหุ้นรายตัวซักเท่าไหร่
เพราะฉะนั้นการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดีครับ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ เพราะการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นจะมีผู้จัดการกองทุนมาคอยดูแลการลงทุนให้เป็นไปตามแผน
นอกเหนือจากนั้น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นยังเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีมากๆอีกด้วย เพราะเป็นการนำเงินไปลงทุนในหุ้นหลายๆตัวพร้อมกัน ซึ่งถ้าเราลงทุนไปซักระยะนึง เริ่มมีความรู้ความชำนาญแล้วค่อยขยับไปลงทุนในเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราสนใจและถนัด เพื่อเพิ่มผลตอบแทนก็ได้
อีกข้อดีอย่างหนึ่งของกองทุนหุ้นก็คือ การลงทุนในกองทุนหุ้นบางประเภทนั้นสามารถนำมูลค่าการลงทุนไปทำเรื่องลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย เช่นกองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารทุน
แต่สุดท้ายแล้วเราจะรู้ว่าเราเหมาะกับการลงทุนแบบไหนได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือทำนั่นล่ะครับ
เพราะฉะนั้น คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังจะเริ่มก็คือคุณอาจจะลองแบ่งเงินเป็น 2 ก้อนแล้วลองลงทุนทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกันเลยก็ได้ครับ
เช่นอาจจะมีเงินเริ่มต้น 20,000 บาท(หรือต่ำกว่านี้ก็ได้) ก็อาจจะลองแบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนละ 10,000 บาท นำไปลงทุนโดยตรงในหุ้น 10,000 บาทและลงทุนในกองทุนหุ้นอีก 10,000 บาท
แล้วดูว่าเราถนัดในการลงทุนแบบไหนมากกว่ากัน เวลาผ่านไปแล้วผลการลงทุนแบบไหนดีกว่ากัน รวมถึงเราสบายใจในการลงทุนในรูปแบบไหนมากกว่าก็เลือกแบบนั้น
ไม่แน่นะครับ อาจจะชอบทั้ง 2 อย่างเลยก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจจะลองค่อยๆลงทุนในรูปแบบ DCA ไปทุกๆเดือนซื้อหน่วยลงทุนหรือหุ้นที่เราสนใจ ก็เป็นการจัดการความเสี่ยงได้ดี
วิธีการเลือกกองทุนรวมหุ้น
การเลือกกองทุนหุ้นนั้นไม่ยากครับ เพียงแต่โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าการลงทุนในกองทุนหุ้น หรือแม้แต่หุ้นเองก็ตามนั้นเหมาะกับการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรในระยะยาว
ระยะยาวที่ว่านี่คือควรจะมีเวลาลงทุนซักอย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไป เพราะถึงแม้ว่าหุ้นหรือกองทุนหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้สูงก็จริง แต่สาเหตุก็เป็นเพราะตัวมันเองมีความผันผวน
เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาระยะเวลามาเป็นตัวเฉลี่ยผลตอบแทนและความเสี่ยง เพื่อให้ผลตอบแทนโดยรวมออกมาเป็นไปตามที่เราหวัง
วิธีการเลือกกองทุนหุ้น จากประสบการณ์ส่วนตัวสามารถสรุปมาได้เป็น 4 ขั้นตอนคือ
- เช็คระดับความเสี่ยงที่เรารับได้
- มองหาผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ
- เปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน
- ดูนโยบายการลงทุน
- ศึกษาพอร์ตและการกระจายความเสี่ยงของกองทุน
- มองหาค่าธรรมเนียมที่สมเหตุสมผล
- เปรียบเทียบข้อมูลอื่นๆ
1.เช็คระดับความเสี่ยงที่เรารับได้
สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการลงทุนอะไรก็ตามก็คือ ควรจะเป็นการลงทุนที่อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตัวเรา เพราะการลงทุนไม่ว่าจะประเภทไหนก็แล้วแต่มันมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
จริงอยู่ที่ถ้าเสี่ยงมากก็ได้ผลตอบแทนมาก แต่การได้ผลตอบแทนมากอาจจะไม่สำคัญเท่ากับการไม่สูญเงินต้นนะครับ ยิ่งถ้าเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย จะยิ่งแก้สถานการณ์กลับมายาก
กองทุนหุ้น(Equity Fund) ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม ส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในความเสี่ยงการลงทุนระดับ 6 ซึ่งถือว่าอู่ในระดบัที่สูงพอสมควรครับอาจจะไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุกกลุ่ม
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเริ่มลงทุนก็ควรจะทำแบบทดสอบระดับความเสี่ยง เพื่อดูว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนหุ้นได้หรือไม่
ถ้าตรวจสอบแล้วว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงในระดับนี้ได้ ก็เริ่มขั้นตอนการหาว่ากองทุนหุ้นไหนดี น่าลงทุนกันได้เลย
2.มองหาผลตอบแทนที่ดี
กองทุนหุ้นที่ดี ควรจะเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และ ให้ผลตอบแทนต่อเนื่องได้ในระยายาว ครับ ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลผลตอบแทนได้จากหนังสือชี้ชวน(Fund Fact Sheet)
การพิจารณาก็ให้พิจารณาด้วยหลักใหญ่ๆ 2 หลักที่ว่ามา โดยผลตอบแทนสม่ำเสมอสามารถดูได้จากข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลังระยะสั้นๆ เช่น 3 เดือน,6 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี
ซึ่งถ้ากองทุนหุ้นที่เราเลือกมา ลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดี มีการกระจายความเสี่ยง ตัวกองทุนก็จะสามารถสะท้อนออกมาจากผลตอบแทนระยะสั้นดังกล่าวได้ครับ
และเมื่อเรารู้แล้วว่ากองทุนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอได้ดีขนาดไหน เราก็ต้องมาตรวจดูด้วยว่ากองทุนที่เราสนใจ มันสามารถสร้างผลตอบแทนต่อเนื่องในระยะยาวได้มั้ย
การพิจารณาผลตอบแทนกองทุนหุ้นในระยะยาวเราสามารถดูได้จากข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี,3ปี หรือ 5ปี ก็จะพอสะท้อนให้เห็นผลการดำเนินงานโดยรวมของกองทุนที่เราสนใจได้ แม้จะไม่ได้การันตีอนาคตก็ตาม
วิธีการตัดสินใจว่าผลตอบแทนทั้งระยะสั้นระยะยาวของกองทุนที่เรากำลังเลือกดูอยู่นี้มันดีหรือไม่ดี เราต้องมีตัวเปรียบเทียบ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถตัดสินใจได้เลย
และการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทรัพย์สินประเภทไหนก็ตาม ห้ามใช้ความรู้สึกตัดสินเด็ดขาดนะครับ เพราะคนเรามักจะเข้าข้างความคิดตัวเอง อาจจะพลาดเจ๊งเลยก็ได้
สิ่งที่เราจะต้องนำมาเปรียบเทียบก็คือผลตอบแทนย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกันของกองทุนหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายกัน และจะต้องนำดัชนีอ้างอิง(Benchmark) มาเทียบด้วย ซึ่งในหนังสือชี้ชวนจะบอกอยู่แล้วว่ากองทุนหุ้นกองนี้ใช้ดัชนีชี้วัดแบบไหน
ถ้ากองทุนหุ้นที่เราเลือกมา สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนไกล้เคียงกัน และให้อัตราผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ก็ถือว่ากองทุนหุ้นกองนั้นเข้ารอบต่อไปแล้วครับ
อีกสิ่งนึงที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยก็คือประเภทของกองทุน ถ้าเป็นกองทุนหุ้นประเภท Active ผลตอบแทนควรจะสูงกว่าดัชนีอ้างอิง
แต่ในทางกลับกัน ถ้าคุณกำลังพิจารณากองทุนแบบ Passive การมีผลตอบแทนไกล้เคียงหรือเท่ากับดัชนีชี้วัด ก็ถือเป็นเรื่องปกติครับ
3.เปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน
นอกจากผลตอบแทนในระยะต่างๆแล้ว เพื่อการเปรียบเทียบที่เป็นชัดขึ้นเราควรนำตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆของกองทุนมาเปรียบเทียบกันด้วยครับ
ซึ่งในบทความนี้จะเป็นแค่การสรุปใจความหลักๆว่าควรจะเลือกด้วยตัวเลขอัตราส่วนแบบไหนถึงจะมีแนวโน้มว่าเป็นกองทุนหุ้นที่ดี ส่วนรายละเอียดจะเขียนในบทความแยกเดี่ยวๆต่อไปครับ
ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินที่ควรรู้ได้แก่
ตัวเลข Sharpe Ratio
ตัวเลข Sharpe Ratio คือตัวเลขสะท้อนผลตอบแทนการลงทุนเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยง
ถ้าตัวเลข Sharp Ratio ยิ่งมากยิ่งดี เพราะแปลว่ากองทุนหุ้นกองนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้มาก หรือในทางกลับกันคือ ผลตอบแทนอาจจะไม่ได้มากนักแต่มีค่าความเสี่ยงน้อย
ค่า Beta
ตัวเลข Beta เป็นตัวเลขอัตราส่วนที่จะช่วยบอกทิศทางและศักยภาพผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นกองนั้นเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์
จำง่ายๆว่า ถ้าหากกองทุนหุ้นมีค่า Beta =1 แปลว่า ผลการดำเนินงานพอๆกันและเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์
แต่ถ้ากองทุนหุ้นกองไหนมีค่า Beta มากกว่า 1 เช่น 1.08 แปลว่าผลการดำเนินงานดีกว่าตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 8%
ในทางตรงกันข้าม ถ้ากองทุนหุ้นกองไหนมีค่า Beta น้อยกว่า 1 เช่น 0.95 นั่นแปลว่าผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 5%
สรุปคือค่า Beta กองทุนรวมยิ่งสูงยิ่งดีครับ
ค่า Standard Deviation (SD)
ตัวเลข SD (Standard Deviation) เป็นตัวเลขที่จะบอกถึงความผันผวนของผลการดำเนินงานกองทุน ตัวเลขนี้ยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะหมายความว่าผลการดำเนินงานของกองทุนมีความผันผวนต่ำ
ค่า Information Ratio(IR)
การดูอัตราผลตอบแทนอย่างเดียว หรือ การดูอัตราความผันผวนอย่างเดียว อาจจะบอกความสามารถด้านใดด้านหนึ่งของกองทุนหุ้นได้ แต่ก็ยังบอกไม่ได้ทั้งหมด
จึงต้องมีอัตราส่วนทางการเงินอีกตัวเข้ามาช่วย นั่นก็คือ Information Ratio นั่นเองครับ เพราะค่านี้จะนำเอาตัวเลขผลตอบแทน,ตัวเลขความผันผวน,และดัชนีชี้วัดมาพิจารณาพร้อมๆกัน
อัตราส่วน Information Ratio คือตัวเลขที่บอกว่าผลการดำเนินงานของกองทุนดีหรือไม่ เมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด(Benchmark) และสามารถสะท้อน “ความเก่ง”ของผู้จัดการกองทุนได้พอสมควร
การเปรียบเทียบตัวเลข Information Ratio (IR) โดยสรุปคือ เลือกเอากองทุนที่มีตัวเลข IR มากไว้จะดีครับ
การตรวจสอบและเปรียบเทียบผลตอบแทนและอัตราส่วนทางการเงิน เป็นการดูภาพรวมของกองทุนหุ้นกองนั้นๆในเบื้องต้นเท่านั้น
แต่การจะเลือกกองทุนหุ้นได้ถูกใจเราจริงๆ ควรจะต้องดูข้อมูลให้ลึกลงไปในรายละเอียดอีกพอสมควรครับ สิ่งที่เราจะต้องดูต่อไปก็คือนโยบายการลงทุนของกองทุนหุ้นกองนั้น นั่นเอง
4.ดูนโยบายการลงทุน
การพิจารณานโยบายการลงทุนของกองทุนหุ้นที่ถูกคัดมาเบื้องต้นจากข้อที่แล้ว จะเป็นการลงไปศึกษารายละเอียดว่า กองทุนหุ้นกองนี้ลงทุนในทรัพย์สินอะไรบ้าง เป็นกองทุนประเภทไหน มีปัจจัยความเสี่ยงอะไรบ้าง เหมาะหรือไม่เหมาะกับใคร
สิ่งที่เราจะดูเป็นอย่างแรกก็คือ กองทุนหุ้นกองนี้นำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวไหนบ้าง โดยสามารถดูได้จากรายชื่อหุ้นที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ซึ่งจะมีแจ้งไว้ใน Fund Fact Sheet อยู่แล้ว
เมื่อเรารู้แล้วว่ากองทุนหุ้นนี้นำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในหุ้นอะไร เราก็จะรู้ได้ว่าตัวเลขผลตอบแทนที่เราดูมาในข้อที่แล้วนั้นมาจากหุ้นตัวไหนบ้าง สัดส่วนอย่างละเท่าไหร่
สิ่งที่เราควรจะวิเคราะห์ต่อไปก็คือ หุ้นแต่ละตัวนั้นมาจากอุตสาหกรรมประเภทไหนบ้าง ซึ่งกองทุนหุ้นทั่วๆไปที่ดีและปลอดภัยควรจะเป็นกองทุนที่มีการกระจายการลงทุนไปในหลายๆอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความเสี่ยง
เพราะในบางช่วงเวลาอาจจะเป็นขาลงของอุตสาหกรรมหนึ่งและเป็นขาขึ้นของอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งถ้ากองทุนหุ้นที่เราดูมีการกระจายการลงทุน เวลาที่เศรษฐกิจเป็นขาลงก็จะมีหุ้นตัวอื่นๆช่วยพยุงไว้
แต่การดูการกระจายตัวของการลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรม เราจะไม่นำไปใช้กับกองทุนหุ้นประเภท Sector Fund นะครับ
เพราะกองทุนหุ้นประเภท Sector Fund เน้นลงทุนกระจุกตัวในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะเค้าจะหากิจการที่เป็นเบอร์ต้นๆของอุตสาหกรรมนั้นๆแล้วลงทุน เสี่ยงมากกว่าแต่ก็ได้ผลตอบแทนมากกว่า
ถ้าหากเป็นไปได้และนักลงทุนมีความรู้เพียงพอ การยอมเสียเวลาเพื่อศึกษางบการเงินของหุ้นใน 5 อันดับแรกที่กองทุนลงทุนก็จะเป็นการดีมาก
เพราะถ้าเราลงรายละเอียดไปแบบนี้เราจะรู้ใส้ในของการลงทุนเลยว่าลักษณะ,ศักยภาพ และความมั่นคงของสิ่งที่เราลงทุนมันเป็นแบบไหน มีสถานะการเงินเป็นยังไงบ้าง
ซึ่งตัวเลขทางการเงินของกิจการเหล่านี้แหละครับ มันจะสะท้อนความสามารถในการสร้างผลตอบแทนกลับมาที่กองทุน และสร้างกำไรให้เราในที่สุด ซึ่งข้อมูลพวกนี้สามารถหาได้จากแบบฟอร์ม 56-1 อยู่แล้ว
ซึ่งการอ่านงบการเงิน นอกจากจะทำให้เราตัดสินใจเลือกกองทุนหุ้นได้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นทักษะพื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดการลงทุนในอนาคตให้เราได้อีกด้วย เรียกว่าได้ประโยชน์ 2 ต่อเลยครับ
แต่ถ้านักลงทุนท่านไหนไม่ได้มีความรู้ความชำนาญ หรือไม่ได้มีเวลามากพอที่จะไปศึกษางบการเงินก็ไม่เป็นไรครับ ค่อยๆศึกษาไป
การที่เราศึกษาลงลึกมาในรายละเอียดของกองทุนหุ้นแต่ละกองแบบนี้ จะทำให้เราเห็นโครงสร้างพอร์ตการลงทุนของกองทุนหุ้นที่เรากำลังพิจารณาเปรียบเทียบ
5.ศึกษาข้อมูลความเสี่ยงของกองทุน
จากนโยบายการลงทุนที่เราศึกษามาในข้อที่แล้ว จะเห็นว่ากองทุนหุ้นแต่ละกองมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน
และเมื่อมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน ก็ทำให้แต่ละกองมีปัจจัยความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรรู้ก่อนตัดสินใจลงทุนครับ
ปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวข้องของกองทุนหุ้นแต่ละกองจะมีแจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวน(Fund Fact Sheet) เพื่อให้นักลงทุนรับทราบและนำไปพิจารณา
ตัวอย่างของปัจจัยเสี่ยงของกองทุนก็เช่น ความเสี่ยงจากการดำเนินงาน,จากฐานะการเงิน,สภาวะเศรษฐกิจ,ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงพวกเหล่านี้ มีผลโดยตรงกับผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นที่เราลงทุน การรู้ว่ากองทุนที่เรากำลังเลือกอยู่นี้มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ก็จะทำให้เราสามารถคาดการณ์แนวโน้มคร่าวๆจากสถานะการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันได้ครับ
6.มองหาค่าธรรมเนียมที่สมเหตุสมผล
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายกองทุน ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการทำกำไรของเรา เพราะฉะนั้นก็จะต้องเปรียบเทียบและเลือกกองทุนหุ้นที่มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมที่สุด
ที่บอกว่าเหมาะสมที่สุดก็คือ ไม่ใช่ว่ากองทุนที่มีค่าธรรมเนียมถูกที่สุดจะเป็นกองทุนที่ดีที่สุดครับ เพราะในบางครั้ง กองทุนหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีและสม่ำเสมอในระยะยาวอาจจะมีค่าธรรมเนียมแพงกว่ากองทุนหุ้นที่สร้างผลตอบแทนน้อยก็ได้
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจก่อนว่าโดยทั่วไปค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายของกองทุนหุ้นแบ่งเป็น 2 ส่วนครับ คือ
ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง
เป็นค่าใช้จ่ายหรอืค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง เช่นค่าธรรมเนียมการซื้อ/ขาย การโอนสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน
โดยทั่วไปจะคิดเป็นร้อยละของมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะไม่กระทบกับผลการดำเนินงานของกองทุน แต่จะกระทบกับผลกำไร/ขาดทุนของนักลงทุน เพราะเรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง
เพราะฉะนั้นการจะทำธุรกรรมอะไรเกี่ยวกับหน่วยลงทุนก็ค่อยๆคิดละทำเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้นนะครับ เพราะถ้าซื้อขายบ่อยเกินไปอาจจะเสียค่าธรรมเนียมเยอะจนไม่คุ้มเอา
ค่าใช้จ่ายที่เก็บจากกองทุน
ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เช่น ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์,ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน,ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน และอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายพวกนี้ จะเรียกเก็บจากกองทุนเองโดยตรง โดยทั่วไปจะเรียกเก็บโดยอ้างอิงจากอัตราส่วนร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) ของกองทุนและจะเรียกเก็บเป็นรายปี
การพิจารณาค่าใช้จ่าย จะต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่าย/ค่าธรรมเนียมทั้งหมดรวมกันถึงจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการลงทุน
อัตราค่าใช้จ่ายรวมนี้จะมีการแจ้งไว้อยู่ในหนังสือชี้ชวน(Fund Fact Sheet) โดยจะแสดงเป็นตัวเลขร้อยละ(%)ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ตัวเลขนี้มีชื่อเรียกว่า อัตราส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด(Total Expense Ratio) ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเปรียบเทียบกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเท่าๆกันก็ควรจะเลือกลงทุนในกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า
แต่ถ้าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ควรพิจารณาให้ละเอียดครับว่าอันไหนคุ้มกว่ากัน
6.เปรียบเทียบข้อมูลอื่นๆ
ข้อสุดท้ายคือให้ลองเปรียบเทียบข้อมูลรายละเอียดยิบย่อยต่างๆที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละกองทุน เช่นขั้นตอนการซื้อ/ขาย จำนวนวันที่ต้องรอได้รับเงินหรือจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ(ถ้ามี)
การลงทุนในกองทุนหุ้น(Equity Fund) ดูแล้วก็เป็นตัวเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจมากๆ เนื่องจากว่าถ้าเราสนใจลงทุนในหุ้นโดยตรงแต่ไม่มีเวลาศึกษามากนักก็สามารถมาลงทุนด้วยวิธีนี้ได้เพราะมีมืออาชีพคอยดูแลให้
และในแง่ของผลตอบแทน กองทุนหุ้นก็เป็นการลงทุนในกองทุนรวมแบบหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ที่สูงพอสมควร แถมมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี จึงเหมาะที่จะให้เงินทำงานในระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป
รวมถึงโอกาสในการลงทุนในประเทศต่างๆ ที่สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศได้สะดวกมากๆ ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนในหุ้นประเทศนั้นๆโดยตรงก็สามารถลงทุนในต่างประเทศได้
การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเป็นเครื่องมือทางการเงินอีกอย่างนึงที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากจะลงทุนในหุ้นแต่อาจจะไม่ถนัด หรือไม่มีเวลาศึกษารายละเอียดของหุ้นแต่ละตัวในเชิงลึกด้วยตัวเองมากนัก และยังมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าน่าสนใจ จึงเป็นอีกตัวเลือกนึงที่เหมาะกับการเริ่มต้นลงทุนของนักลงทุนมือใหม่ที่อยากจะลองลงทุนในหุ้นโดยมีความเสี่ยงไม่สูงมากนักครับ