หัวข้อน่าสนใจ
เงินเฟ้อคืออะไร
ภาวะเงินเฟ้อคือชื่อเรียกของสภาวะเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ระดับราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น มีผลทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในปริมาณที่น้อยลง
การเพิ่มขึ้นของระดับราคาดังกล่าวมักจะมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต เนื่องจากปริมาณเงินที่มีอยู่เท่าเดิมในกระเป๋าสตางค์กลับสามารถซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง
พูดอีกอย่างนึงก็คือสภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินไปนั้นทำให้มูลค่าของเงินในกระเป๋าเราลดลง ค่าครองชีพในการดำรงชีวิตประจำวันสูงขึ้น ทำให้อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการต่างๆลดต่ำลงไปด้วยนั่นเองครับ
ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราอาจจะซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามได้ในราคา 30 บาท แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเราต้องการซื้อก๋วยเตี๋ยว 1 ชามอาจจะต้องใช้เงิน 40-60 บาท นั่นแปลว่าเงิน 30 บาทที่เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เต็มชาม ในปัจจุบันมันสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้แค่ครึ่งชามเท่านั้น
และลองคิดดูว่า ในขณะที่เงินมีมูลค่าลดลงไปเรื่อยๆแบบนี้ แต่รายได้ของเราที่เข้ามาในแต่ละปีไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามากจนไม่ทันการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ เราก็จะสามารถจับจ่ายซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงค์ชีวิตได้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร,เสื้อผ้า,ยารักษาโรค หรือของใช้ต่างๆ
สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และแน่นอนว่ามีผลต่อการใช้ชีวิตของทุกๆคนที่จะต้องหาวิธีการเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้เพื่อรักษาระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองอาจจะด้วยการหารายได้เพิ่ม หรือนำเงินไปลงทุนด้วยวิธีต่างๆเพื่อสร้างผลตอบแทน
ดังนั้นเราจึงต้องมีตัวชี้วัดที่จะบอกเราได้ว่าการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าและบริการมันเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่มากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละปี ซึ่งตัวชี้วัดที่ว่านี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” นั่นเองครับ
อัตราเงินเฟ้อ คืออะไร?
อัตราเงินเฟ้อคือตัวเลขแสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการเมื่อเทียบกับเวลาที่ผ่านไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการแสดงการเปลี่ยนแปลงระดับราคาในระยะเวลา 1 ปี
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่บอกเราว่าราคาสินค้าและบริการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อจะถูกวัดเปรียบเทียบปีต่อปีและแสดงตัวเลขออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการประกาศออกมาว่าอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% นั่นก็หมายความว่า ระดับราคาสินค้าและบริการโดยภาพรวมในปัจจุบันนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นมาร้อยละ 3 จากระดับราคาปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน
แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าระดับราคาสินค้าและบริการต่างๆในแต่ละปีมันคือเท่าไหร่ มีวิธีการวัดการเปลี่ยนแปลงของมันยังไงก่อนที่จะถูกประกาศออกมาเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ?
จริงๆแล้วก็ไม่ต่างจากการวัดความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นครับ เพราะวิธีการที่จะวัดความเคลื่อนไหวของอะไรก็ตามที่มีข้อมูลจำนวนมากและต้องการจะดูว่าความเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มโดยภาพรวมของสิ่งนั้นๆเป็นยังไงก็จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “ดัชนี” (Index)
ซึ่งถ้าจะดูความเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้น ก็จะต้องดูจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้าจะดูความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเราจะต้องดูจากตัวเลขที่เรียกว่า “ดัชนีราคาผู้บริโภค”ครับ
ดัชนีราคาผู้บริโภค คืออะไร?
ดัชนีราคาผู้บริโภคคือตัวเลขทางสถิติที่ใช้ชี้วัดการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเป็นประจำในแต่ละเดือน
ดัชนีราคาผู้บริโภคเป็นการรวบรวมเอาราคาสินค้าและบริการหมวดหมู่ต่างๆที่มีในระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศที่ได้จากการสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาจัดทำเป็นดัชนี ซึ่งจะเริ่มจากปีฐานครั้งแรกคือ 100 จุด
ราคาสินค้าและบริการที่ถูกนำมาเป็นตัวตั้งต้นในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อนั้นจะถูกจัดแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่าย 7 หมวดหลักได้แก่
- หมวดอาหารและเครื่องดื่ม
- หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
- หมวดเคหสถาน
- หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
- หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร
- หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา
- หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
และจริงๆแล้วค่าใช้จ่ายครัวเรือน 7 หมวดหลักดังกล่าวยังสามารถแยกย่อยออกเป็นค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆได้อีกมากมายในแต่ละหมวดหลัก
ค่าใช้จ่ายครัวเรือนประเภทต่างๆในระบบเศรษฐกิจเหล่านี้จะถูกรวบรวมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติแล้วนำไปผ่านกระบวนการคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อที่จะออกมาเป็นตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคตัวเลขเดี่ยวๆในแต่ละเดือน เช่น 100 จุด, 102 จุด หรือตัวเลขอื่นๆ
เมื่อรู้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในแต่ละเดือนแล้ว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถนำไปใช้คำนวณให้ออกมาเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อได้ในที่สุด
เมื่อได้ตัวเลขดัชนีผู้บริโภคในแต่ละเดือนออกมาแล้ว ก็จะเอาตัวเลขดัชนีในแต่ละเดือนมาเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลง เพื่อคำนวณตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อคำนวนมายังไง
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อถูกคำนวณมาจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคในแต่ละเดือน ซึ่งจะถูกคำนวณและประกาศออกมาในทุกๆเดือน
เมื่อได้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของแต่ละเดือนในปัจจุบันมาแล้ว ก็จะเอามาเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภคในอดีตที่ผ่านมา แล้วจึงคำนวณความต่างออกมาเป็นเปอร์เซ็น (เอามาลบกันแล้วค่อยทำเป็นเปอร์เซ็นต์นั่นเอง)
ตัวอย่างเช่น
- ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มกราคม ปี 2858 = 100 จุด
- ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มกราคม ปี 2859 = 103 จุด
เมื่อนำดัชนีราคาผู้บริโภคของทั้ง 2 อันมาลบกันจะมีค่าต่างกันเท่ากับ 103-100= 3 จุด ซึ่งเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะเท่ากับว่า ราคาสินค้าและบริการในเดือนมกราคม ปี 2859 นั้นเพิ่มขึ้นมา 3% ถ้าเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อน
จากกรณีตัวอย่างนี้ ถ้าจะพูดให้ง่ายๆชัดๆก็คือ
อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณออกมามีค่าเท่ากับ 3% นั่นเองครับ
อ่านมาถึงตรงนี้เราก็น่าจะเข้าใจกันแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นแท้จริงแล้วก็คือการเอาดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาต่างกันมาเปรียบเทียบเพื่อดูแนวโน้มความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการต่างๆที่มีผลต่อทุกคนในระบบเศรษฐกิจ
และเมื่อสามารถหาตัวเลขอัตราเงินเฟ้อออกมาได้แล้ว หน่วยงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องต่างๆก็จะสามารถนำไปพิจารณาเพื่อใช้ออกนโยบายทางการเงินสำหรับควบคุมเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในประเทศได้
ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยสามารถหาดูได้ที่เว็บไซต์ของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ซึ่งหน่วยงานนี้จะมีหน้าที่จัดทำดัชนีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆที่สำคัญ เพื่อใช้ในการดูภาพรวมและวางแผนบริหารนโยบายทางการเงิน
และถ้าใครได้ลองเข้าไปดูข้อมูลอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศในเว็บดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่ามีดัชนีที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้ออยู่ 2 ตัวด้วยกันคือ
- ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI)
- ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI)
*CPI ย่อมาจาก Consumer Price Index.
ซึ่งการมีดัชนีราคาผู้บริโภค 2 ประเภทแบบนี้ ทำให้เวลาประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อก็จะมี 2 ประเภทเช่นเดียวกันคือเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน
แล้วตัวเลขเงินเฟ้อทั้ง 2 ประเภทนี้มันต่างกันยังไง?
เงินเฟ้อทั่วไปกับเงินเฟ้อพื้นฐานต่างกันยังไง
ในเมื่อตัวเลขอัตราเงินเฟ้อนั้นถูกคำนวณมาจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคก็ถูกคำนวณมาจากการรวบรวมค่าใช้จ่ายครัวเรือนในหมวดหมู่ต่างๆ นั่นแปลว่าถ้าหมวดหมู่ของค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่ถูกนำมาคิดหาดัชนีนั้นต่างหมวดกัน หรือมีการตัดหมวดใดหมวดหนึ่งออกไปเราก็จะได้ตัวเลขดัชนีออกมาแตกต่างกัน
นั่นคือที่ต้นเหตุของการที่เรามีตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ 2 ประเภทนั่นเองครับ
เงินเฟ้อทั่วไปกับเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นต่างกันตรงที่หมวดหมู่ราคาสินค้าและบริการที่นำมาเป็นปัจจัยในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค โดยที่การคิดเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นจะตัดค่าใช้จ่ายในบางหมวดหมู่ออกไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไปใช้งานที่แตกต่างกัน
เรามาเจาะลึกดูกันครับว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั้ง 2 แบบนี้มันต่างกันยังไงและนำไปใช้งานอะไรได้บ้าง
เงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation) คืออะไร
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation)คืออัตราการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการที่ถูกคิดมาจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเป็นการนำค่าใช้จ่ายครัวเรือนทุกหมวดหมู่มาคิดหาดัชนีราคาผู้บริโภค และนำการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าวในช่วงเวลาที่เราสนใจมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ
ด้วยความที่ตัวเลขเงินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้นถูกคำนวณมาจากค่าใช้จ่ายครัวเรือนรวมทุกหมวดหมู่จึงทำให้เงินเฟ้อชนิดนี้เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ตรงกับความเข้าใจและสะท้อนค่าครองชีพของประชาชนหรือผู้บริโภคได้ค่อนข้างตรง เพราะเป็นตัวเลขอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการที่ครอบคลุมทุกๆอย่างในระบบเศรษฐกิจและเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของทุกคนนั่นเอง
นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังเป็นตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยึดเป็นเป้าหมายหลักเพื่อใช้ในการออกนโยบายทางการเงินการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจด้วยการวางกรอบอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น(Flexible Inflation Targeting)เอาไว้ในแต่ละปี
และถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในเกณฑ์ นั่นก็แสดงว่าในแต่ละปี จะต้องมีการกำหนดตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อที่ควรจะต้องทำให้ได้
ตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นเป้าหมายในแต่ละปีเรียกว่า“กรอบอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น“ครับ ซึ่งมันก็คือการกำหนดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ต้องการไว้คร่าวๆ และตีกรอบไว้ว่าจะยอมให้ค่าเงินเฟ้อนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายได้มากหรือน้อยเท่าไหร่
การกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ว่านี้ก็คือจะกำหนดเป้าหมายค่ากลางไว้ที่ 2.5% และยอมให้ตัวเลขนี้แกว่งได้ภายในกรอบ +/- 1.5% เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าและบริการต่างๆไว้ไม่ให้ผันผวนจนเกินไป
ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคอยควบคุมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ในกรอบดังกล่าวด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” โดยจะใช้การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจและตัวเลข GDP มีการเติบโตและรักษาความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนไว้ด้วยในเวลาเดียวกัน
แต่ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเป็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ตรงกับชีวิตจริงของประชาชน และเป็นตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือวางแผนนโยบายทางการเงินในปัจจุบัน แต่ตัวเลขเงินเฟ้อชนิดนี้ก็ยังมีข้อเสียและข้อจำกัดบางอย่างอยู่
ด้วยความที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้นมาจากการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งรวมค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการจากทุกหมวดหมู่ แต่ราคาสินค้าและบริการบางชนิดนั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมากแถมยังอยู่นอกเหนือการควบคุมจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ
เมื่อราคาสินค้าบางหมวดหมู่มีความผันผวนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation)นั้นไม่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์และควบคุมสภาวะเศรษฐกิจได้แม่นยำเท่าไหร่นักเพราะตัวเลขที่ได้มาอาจจะไม่สะท้อนพื้นฐานระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงต้องมีตัวเลขเงินเฟ้ออีกชนิดนึงที่เรียกว่า “เงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation)”
เรามาดูกันครับว่าเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นคำนวณมาจากไหน หักราคาสินค้าและบริการในด้านใดออกไปบ้าง
เงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) คืออะไร
เงินเฟ้อพื้นฐานคืออัตราเงินเฟ้อที่ถูกคำนวณออกมาโดยไม่นำราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในหมวดหมู่พลังงานและอาหารสดมารวมในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค
การคำนวณตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยที่ตัดราคาสินค้าของกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกไปจะทำให้ได้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สะท้อนพื้นฐานสภาวะราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจในแต่ละประเทศได้แม่นยำยิ่งขึ้น เพราะไม่มีตัวแปรที่ผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศมาอยู่ในการคำนวณ
เมื่อได้ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation)มาแล้ว หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์วางแผนควบคุมเสถียรภาพราคาได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นตัวเลขที่สะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจจริงๆ
สาเหตุที่ต้องตัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มของอาหารสดและพลังงานออกไปก็เพราะว่าราคาสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมักจะมีความผันผวนสูง มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกต่างๆ และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงินจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศ(ในประเทศไทยก็คือแบงค์ชาติ)
ตัวอย่างของสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานได้แก่
ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มอาหารสด
- ข้าว
- แป้ง
- ข้าวโพด
- เนื้อสัตว์
- ผัก
- ผลไม้
ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มพลังงาน
- ค่าไฟฟ้า
- ก๊าซหุงต้ม
- น้ำมันเชื้อเพลิง
- ก๊าซธรรมชาติ
จากตัวอย่างสินค้าใน 2 กลุ่มดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า Commodities หรือสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มักถูกซื้อขายอยู่ในตลาดเก็งกำไรต่างๆทั่วโลก จึงเป็นสาเหตุให้ราคาของสินค้าเหล่านี้มีความผันผวนอยู่เสมอ
นอกจากความผันผวนที่เกิดจากการเก็งกำไรแล้ว ราคาและผลผลิตของสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติตกอยู่ในภาวะสงคราม,ความไม่สงบทางการเมือง หรือมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติก็จะแพงขึ้น
และเมื่อราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนในการขนส่งสินค้าด้วยวิธีต่างๆก็จะแพงขึ้นด้วยไม่ว่าจะเป็นรถไฟ,รถบรรทุก,เรือ หรือเครื่องบิน และจะส่งผลต่อมาทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นไปตามลำดับ
หรือถ้าเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาร,แป้ง,เนื้อสัตว์ เกิดมีโรคระบาดหรือภัยธรรมชาติ ผลิตสินค้าส่งออกได้น้อยลงก็จะทำให้สินค้าอาหารสดมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการขาดแคลนสินค้าเหล่านี้
นี่ยังไม่นับรวมถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไรของนักลงทุนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดต่างๆในตลาดอยู่เป็นประจำทุกวันนะครับ
ความอ่อนไหวต่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานมีความผันผวนมากเกินไป
และถ้าหากนำกลุ่มสินค้าที่มีความผันผวนมากขนาดนี้มาคิดรวมเป็นปัจจัยในการคำนวณเงินเฟ้อก็จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่เกิดประโยชน์
เพราะจุดประสงค์ของการหาตัวเลขเงินเฟ้อก็คือเพื่อติดตามสภาวะเศรษฐกิจและควบคุมราคาสินค้าและบริการต่างๆให้สามารถดำเนินไปได้อย่างปกติ ซึ่งต้องอาศัยตัวเลขข้อมูลที่แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้
เงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation) จึงเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่สามารถบอกสภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในแต่ละประเทศแม่นยำกว่าเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation)
เพราะการคำนวณตัวเลขเงินเฟ้อชนิดนี้เกิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศจริงๆและมีความผันผวนในระดับต่ำ
เพียงแต่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรากฎออกมานั้น อาจจะไม่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายจริงๆของประชาชน รวมถึงจะไม่ค่อยตรงกับความเข้าใจของประชาชนซักเท่าไหร่ เพราะในชีวิตจริงทุกคนต้องจ่ายค่าอาหารและค่าพลังงาน
แต่การมีตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core Inflation)ควบคู่ไปกับเงินเฟ้อทั่วไป(Headline Inflation)ก็จะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเสถียรภาพเศรษฐกิจสามารถติดตาม ควบคุม และบริหารนโยบายทางการเงินได้อย่างแม่นยำกว่าการใช้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปนั่นเองครับ
ตัวเลขเงินเฟ้อ MoM,YoY,AoA หมายถึงอะไร?
เมื่อเราเข้าไปดูประกาศอัตราเงินเฟ้อหรือการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคในเว็บไซต์ก็จะเห็นว่ามันมีการประกาศตัวเลขออกมาหลายๆลักษณะ ซึ่งมักจะเป็นตารางดัชนีที่ประกาศออกมาในลักษณะ MoM, YoY และ AoA
หลายๆคนคงจะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร มีความหมายยังไง จริงๆแล้วมันคือการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาต่างๆกันเท่านั้นเองครับ
ในตารางประกาศอัตราเงินเฟ้อจะมีการเทียบช่วงเวลาอยู่ 3 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้เปรียบเทียบข้อมูลได้แก่
ตัวเลขเงินเฟ้อแบบ MoM (Month on Month)
ตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาเป็น Month on Month หมายความว่าตัวเลขนี้เป็นการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการแบบ “เดือนต่อเดือน” นั่นเองครับ
เป็นการเปรียบเทียบดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนนี้กับเดือนที่แล้ว ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเท่าไหร่และคำนวณออกมาเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์เงินเฟ้อ
ตัวอย่างเช่นประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม ได้อัตราเงินเฟ้อแบบ MoM ออกมาเท่ากับ 0.25% นั่นก็หมายความว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมีนาคมนั้นเพิ่มขึ้นมา 0.25% จากเดือนกุมภาพันธ์นั่นเอง
ตัวเลขเงินเฟ้อแบบ YoY (Year on Year)
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแบบ Year on Year เป็นการเปรียบเทียบระดับราคาสินค้าและบริการในเดือนเดียวกันของแต่ละปี ซึ่งโดยทั่วไปก็คือการเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีนี้กับปีที่แล้วนั่นเองครับ
ตัวอย่างเช่นประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2565 แบบ YoY เท่ากับ 2.8% นั่นก็หมายความว่าระดับราคาสินค้าและบริการของเดือนมกราคม 2565 เพิ่มขึ้นมา 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 นั่นเอง
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแบบ AoA (Average on Average)
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแบบ Average on Average (AoA) คือค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละปี
ตัวอย่างเช่น ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานแบบ AoA ในเดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 0.52% นั่นก็หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของ 4 เดือนแรกในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2566 คิดเป็นปริมาณ 0.52% นั่นเอง
หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมเงินเฟ้อ
เมื่อภาวะเงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆในระบบเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี อัตราเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเงินเฟ้อมีอยู่ 2 หน่วยงานได้แก่
กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ติดตาม รวบรวมราคาสินค้าและบริการต่างๆทั่วประเทศที่ประชาชนต้องใช้เป็นประจำทุกวันเพื่อนำมาจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภค
และเมื่อได้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของแต่ละเดือนมาแล้ว ก็จะสามารถติดตามอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าวได้ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีที่ว่านี่ล่ะครับคือสิ่งที่เรียกว่าอัตรเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ยังมีหน้าที่ควบคุมราคาสินค้าและบริการไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงป้องกันการกักตุนสินค้าอีกด้วย
เมื่อมีคนทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลมาจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคและคำนวณหาอัตราเงินเฟ้อแล้ว ก็จะต้องมีอีกหน่วยงานนึงที่ทำหน้าที่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมด้วย นั่นก็คือแบงค์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเองครับ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะทำหน้าที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่ส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและยังสามารถรักษาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคไว้ได้ในเวลาเดียวกัน
การควบคุมดูแลสภาวะเงินเฟ้อจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งเป็นการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์เงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลานั่นเองครับ
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นวิธีการควบคุมปริมาณเงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป
แล้วอัตราเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมันมีความสัมพันธ์กันยังไงล่ะ?
ความสัมพันธ์ของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
การปรับเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆใช้ในการควบคุมปริมาณอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ซึ่งการตัดสินใจว่าจะเพิ่ม,ลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคตนั่นเองครับ
ในที่นี้เราจะอธิบายความสัมพันธ์และผลที่เกิดขึ้นโดยภาพรวมของการปรับลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมแล้วกันนะครับ
เศรษฐกิจดี เงินเฟ้อมาก อัตราดอกเบี้ยเพิ่ม
ในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความร้อนแรง การลงทุนคึกคัก ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้ง่าย ผู้ประกอบการต่างต้องการขยายกิจการเพราะสามารถกู้เงินได้ด้วยต้นทุนที่ถูก ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม ก็จะทำให้ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น เงินหาได้ง่ายกล้าจับจ่ายใช้สอย มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเยอะ
เมื่อกิจการต่างๆขยายตัวและพากันเพิ่มกำลังการผลิตและประชาชนกล้าจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการแบบนี้ ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไปก็จะมีความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆมากขึ้น จนทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น
ในกรณีนี้ ธนาคารกลาง(แบงก์ชาติ) มีความจำเป็นต้องดูดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้ลดลงด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินกู้ให้สูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้นก็จะช่วยดึงดูดให้คนทำเงินมาฝากธนาคารกันมากขึ้น เพราะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย เป็นผลให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง
ในขณะเดียวกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารเพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการกู้เงินเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆก็จะลดการขอสินเชื่อมาขยายกิจการ ทำให้กำลังการผลิตสินค้าและบริการชนิดต่างๆลดลง เป็นผลให้เกิดการจำกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
จะเห็นได้ว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง ลดการจับจ่ายใช้สอยและการขยายธุรกิจ ส่งผลให้ความต้องการการบริโภคสินค้าต่างๆลดลง เมื่อความต้องการ(Demand) ลดลงก็จะทำให้ราคาของสินค้าและบริการต่างๆลดลงตามไป จนสามารถลดอัตราเงินเฟ้อลงได้ในที่สุด
เศรษฐกิจซบเซา เงินเฟ้อต่ำ อัตราดอกเบี้ยลด
ถ้าหากเศรษฐกิจอยู่ในสภาพซบเซา ภาคธุรกิจไม่มีการลงทุนอะไรใหม่ๆเพื่อให้เกิดการขยายตัว ไม่มีการจ้างงานใหม่ๆเพิ่ม ประชาชนลดการจับจ่ายใช้สอยก็จะทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบน้อยเกินไป
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆลดน้อยลงและจะพาให้ระดับราคาของสิ่งต่างๆลดลงตามไปด้วย อัตราเงินเฟ้อจะลดลง จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีการขยายตัว
ในกรณีนี้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆมีความจำเป็นต้องฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางลดลง ก็ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลดลงตามไปด้วย
เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ทำให้ผลตอบแทนจากการฝากเงินไว้ในธนาคารก็น้อยลงตามไปด้วย คนก็จะไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการฝากเงินไว้ในธนาคาร นำเงินออกมาใช้จ่ายบริโภคหรือท่องเที่ยว และอาจจะนำเงินมาลงทุนทำให้งอกเงยด้วยวิธีอื่นเช่นลงทุนในกองทุนรวม,ลงทุนในหุ้น,พันธบัตร และอื่นๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า
และในขณะเดียวกันเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มาลงทุนขยายกิจการ เพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้
เมื่อธุรกิจต่างๆมีการขยายตัวเพิ่มกำลังการผลิต ความต้องการสินค้าวัตถุดิบก็จะเพิ่มขึ้นและประชาชนก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจึงทำให้ความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบต่างๆเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาของสิ่งต่างๆเพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจมีการขยายตัว
จะเห็นว่าสภาวะเงินเฟ้อจริงๆแล้วก็เป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เพียงแต่ต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นผลเสียต่อทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจโดยรวม
การจะสามารถควบคุมสภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับอ่อนๆและไม่ผันผวนจะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องรู้ก่อนว่าสภาวะเงินเฟ้อนั้นเกิดมาจากปัจจัยอะไรบ้าง
แล้วสภาวะเงินเฟ้อมันเกิดมาจากอะไร?
เงินเฟ้อเกิดจากอะไร?
เงินเฟ้อสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งก็จะมีผลทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อในลักษณะแตกต่างกันไป สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อสามารถแบ่งได้เป็น 3 สาเหตุคือ
- Cost push Inflation (เงินเฟ้อที่เกิดจากการเพิ่มชึ้นของต้นทุนการผลิต)
- Demand-Pull Inflation (ความต้องการอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น)
- Built-in Inflation
Cost-push Inflation คืออะไร?
Cost-Push Inflation คือสภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากปริมาณสินค้าและบริการในตลาดลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นโดยที่ความต้องการการบริโภคยังมีในปริมาณเท่าเดิม(Inelastic Demand) จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆแพงขึ้น
การผลิตสินค้าและบริการในทุกๆรูปแบบนั้นล้วนแล้วแต่มีต้นทุน เช่นต้นทุนการซื้อวัตถุดิบต่างๆ ต้นทุนค่าแรงพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนในด้านอื่นๆอีกหลายอย่าง
เมื่อต้นทุนที่เกี่ยวกับปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้กำไรของผู้ผลิตสินค้าและบริการลดลง และเนื่องจากความต้องการสินค้ายังมีเหมือนเดิมไม่ได้ลดลง ผู้ผลิตจึงสามารถเพิ่มราคาขายให้แพงขึ้นเพื่อรักษาอัตราผลกำไรไว้ได้เท่าเดิม
เมื่อราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น ก็ทำให้ดัชนีผู้บริโภคเพิ่มข้นในอัตราที่มากขึ้น จึงทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อที่มีต้นเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นนั่นเองครับ
สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดมาจากสาเหตุ Cost-push Inflation ค่อนข้างจะเกิดได้ยากและจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของต้นทุนปัจจัยการผลิตนั้นมักไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปกติทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นก็มีหลายอย่างด้วยกันและเมื่อปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วก็มักจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรามาดูกันครับว่าปัจจัที่ทำให้เกิด Cost-push Inflation นั้นมันมีอะไรบ้าง
ปัจจัยที่ทำให้เกิด Cost-Push Inflation
สินค้าในตลาดผูกขาด (Monopoly)
สินค้าและบริการประเภทที่อยู่ในตลาดแบบผูกขาดหรือมีผู้ผลิตน้อยราย อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ระดับราคาของสินค้าในกลุ่มนั้นเพิ่มสูงขึ้นได้โดยที่ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองน้อยมาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าน้ำมันในประเทศต่างๆ หรือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันอย่างกลุ่ม OPEC ที่สามารถกำหนดราคาน้ำมันในโลกใบนี้อย่างง่ายดายด้วยการเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิต
ถ้ากลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น มีผลทำให้ประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมาขายให้ประชาชนจะต้องขายในราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลทำให้ค่าขนส่งสำหรับสินค้าและบริการชนิดต่างๆนั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด,วัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ และเมื่อสิน้าเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นก็จะต้องถูกนำมาขายให้ผู้บริโภคด้วยราคาที่แพงขึ้น และทำให้เกิดเงินเฟ้อนั่นเอง
ภัยธรรมชาติ (Natural Disaster)
ปัจจัยอีกอย่างนึงที่มีผลทำให้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆนั้นลดลงและมีราคาแพงขึ้นได้แก่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆนั่นเองครับ
ภัยธรรมชาติที่เราคุ้นเคยกันดีและมักจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆก็คือ น้ำท่วม,พายุทอร์นาโด,แผ่นดินไหว ซึ่งเหตุการณ์ที่นอกเหนือการควบคุมเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นก็มักจะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อสิ่งต่างๆ
ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมทำให้ผลผลิตข้าวลดลง พายุทอร์นาโดหรือแผ่นดินไหวอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่โรงงานหรือพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆทำห้ต้องหยุดสายพานการผลิตและเกิดการขาดแคลนสินค้าขึ้นในที่สุด
เมื่อวัตถุดิบสำหรับการผลิตลดลง ก็จะส่งผลให้ปริมาณสินค้าที่ผลิตได้(Supply)ลดลงตามไปด้วย และในเมื่อสินค้าต่างๆเหล่านั้นยังคงเป็นที่ต้องการอยู่มากเหมือนเดิม จึงเป็นช่องทางของผู้ขายที่จะเพิ่มราคาสินค้าขึ้น และเป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
การเพิ่มขึ้นของค่าแรง (Wages)
ค่าแรงของพนักงานนับเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของธุรกิจแทบทุกประเภท ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความร้อนแรง ผู้ประกอบการเจ้าต่างๆก็เร่งลงทุนขยายกิจการเป็นผลให้มีความต้องการในการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
และเมื่อความต้องการแรงงานในภาคส่วนต่างๆนั้นเพิ่มสูงขึ้นก็จะเริ่มเกิดการแย่งตัวกันของแต่ละบริษัท แน่นอนว่าจะต้องมีการเพิ่มแรงจูงใจด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน,ค่าจ้างตามชั่วโมงการทำงานและสวัสดิการณ์ในรูปแบบอื่นๆ
สัญญาณที่จะเป็นตัวบอกว่าอาจจะเกิดสภาวะเงินเฟ้อที่มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าแรงได้ก็คืออัตราการว่างงาน(Unemployment Rate)ครับ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวเลขอัตราการว่างงานน้อย แสดงว่ามีความต้องการแรงงานในระบบมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้องมีการเพิ่มค่าแรงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนมาสมัครงาน
สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ค่าแรงพนักงานเพิ่มสูงขึ้นอาจจะมาจากนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จากการประท้วง หรือนโยบายจากรัฐบาลในสมัยต่างๆเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อค่าแรงถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะทำให้ผู้ผลิตต้องขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อรักษาอัตราผลกำไรเอาไว้ นั่นแปลว่าผู้บริโภคก้จะต้องจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง
ต้นทุนสินค้านำเข้า
Imported Inflation คือสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนราคาสินค้าหรือวัตถุดิบในการผลิตต่างๆที่ต้องอาศัยการนำเข้ามาจากต่างประเทศ
ตัวอย่างเช่น โรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้าอาจจะต้องนำเข้าวัตถุดิบเช่นฝ้าย หรือคอตต้อน จากต่างประเทศ ถ้าผู้ค้าในต่างประเทศเกิดมีเหตุต้องเพิ่มราคาวัตถุดิบเหล่านี้ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าของโรงงานในประเทศเราสูงตามขึ้นไปด้วย
หรือแม้แต่อาหารสัตว์เช่น ข้าวโพดสำหรับวัว หรืออาหารหมูที่ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าเกิดมีภาวะสงครามหรือภัยธรรมชาติที่มีผลทำให้ปริมาณผลผลิตของสินค้าเหล่านี้ลดลงไป ก็จะทำให้ราคาขายเพิ่มขึ้น เนื้อหมูเนื้อวัวที่ขายในประเทศก็จะต้องขอายในราคาที่แพงขึ้นตามต้นทุนค่าอาหารที่ต้องใช้ในการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือน้ำมันเชื้อเพลิงครับ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขายในประเทศเรานั้นอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นก็ทำให้ต้นทุนการของผู้ค้าต่างๆเพิ่มขึ้น
ถ้าผู้ค้าน้ำมันต้องการรักษาผลกำไรไว้ก็จะต้องเพิ่มราคาน้ำมันขึ้นไปตามต้นทุนที่ได้มา ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้น
เมื่อค่าน้ำมันแพงขึ้น ก็จะทให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าชนิดต่างๆสุงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารแห้งหรือสินค้าชนิดอื่นๆที่ต้องใช้การขนส่ง(ซึ่งก็แทบจะทั้งหมด) ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
ภาษีสำหรับสิ่งต่างๆ (Taxes)
สินค้าบางประเภทอาจจะเป็นสินค้าที่อยู่ในการควบคุมหรือมีการเรียกเก็บอัตราภาษีในอัตราที่สูงกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไป เช่นสินค้านำเข้า,เครื่องดื่มแอลกอฮอล์,ยาสูบชนิดต่างๆหรือแม้กระทั่งสินค้าที่มีน้ำตาล
มาตรการเพิ่มการเก็บภาษีเหล่านี้มักจะมาจากการที่ภาครัฐต้องการควบคุมปริมาณการบริโภคสินค้าเนื่องจากเหตุผลบางอย่าง เช่นเป็นสิ่งมึนเมา ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
แต่สำหรับสินค้าบางชนิดเช่น รถยนต์ก็อาจจะมีการตั้งกำแพงทางภาษีนำเข้าไว้ค่อนข้างสูงเพื่อที่จะควบคุมปริมาณการนำเข้าและส่งเสริมการขายรถที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและเงินหมุนเวียนในระบบ
แต่ถึงแม้จะเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบก็จริง แต่ปัจจัยอะไรก็ตามที่เป็นการเพิ่มราคาสินค้าและบริการก็มีผลทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
Demand-Pull Inflation คืออะไร
เงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจาก Demand-pull คือสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึึ้นมาจากความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่มากขึ้นจนเกินกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงเวลาขณะนั้น
เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆมีการลงทุนขยายกิจการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น
การขยายตัวของกิจการต่างๆก็จะต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วเพื่อป้องกันการแย่งตัวเพราะความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
เมื่อการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น คนมีงานทำมากขึ้นและมีรายได้สูงขึ้น จึงส่งผลให้กำลังซื้อและมีความต้องการในการบริโภคสินค้าและบริการประเภทต่างๆมากขึ้นตามไปด้วย
และเมื่อความต้องการบริโภค(อุปสง์)สูงขึ้นไปถงจุดที่ปริมาณสินค้าและบริการต่างๆไม่สามารถถูกผลิตออกมาได้ทันกับความต้องการดังกล่าว ก็จะทำให้ราคาข้าวของต่างๆแพงขึ้นมาโดยอัตโนมัติตามกลกไกธรรมชาติของตลาด
สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อแบบ Demand-pull
ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อแบบ Demand-Pull มีอยู่ 5 ปัจจัยหลักๆคือ
- การเติบโตของเศรษฐกิจ
- ความต้องการนำเข้าและส่งออกสินค้า
- การใช้จ่ายของรัฐบาล
- ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ
- ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
การเติบโตของเศรษฐกิจ
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดีมีการเติบโตสูง ทำให้ประชาชนมีรายได้ดีและเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยทำให้มีแนวโน้มที่จะบริโภคสินค้าและบริการในปริมาณที่มากขึ้น
นอกจากนั้น ความมั่นใจในการบริโภคและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆมีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆของธนาคารเช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อธุรกิจ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบและทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการในรูปแบบต่างๆเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระดับราคาสิ่งของต่างๆเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
ปริมาณการนำเข้า/ส่งออกสินค้า
ปริมาณการนำเข้า/ส่งออกสินค้า(Export Demand) เป็นปัจจัยนึงที่มีผลต่อปริมาณและราคาสินค้าในประเทศเพราะจะต้องมีการแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งที่ผลิตได้ส่งออกไปขายในต่างประเทศอาจมีผลทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงที่สินค้ามีจำนวณไม่พอต่อความต้องการการบริโภคในประเทศ
และในทางกลับกัน การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็มีผลทำให้ปริมาณของอุปทานในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ราคาสินค้าในประเภทนั้นลดต่ำลงมา
สิ่งที่สำคัญก็คือปริมาณการนำเข้า/ส่งออกนั้นแปรผันโดยตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินระหว่างประเทศที่เป็นคู่ค้าด้วยกัน หรืออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศเราเมื่อเทียบกับสกุลเงินลักๆของโลก
เวลาที่สกุลเงินในประเทศอ่อนค่าลง จะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าจะสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมแต่ได้ปริมาณสินค้าที่มากกว่าเดิม จึงถือเป็นโอกาสของประเทศเหล่านั้นที่จะเพิ่มปริมาณการสั่งซื้อสินค้าในช่วงเวลาที่ค่าเงินในประเทศคู่ค้าของตัวเองอ่อนค่า
ในขณะเดียวกัน เมื่อค่าเงินในประเทศเราอ่อนค่าลง ก็จะมีผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าต่างๆนั้นลดลงตามไปด้วย เนื่องจากถ้าเราจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาเท่าเดิม เราจะได้สินค้าส่งกลับเข้ามาในประเทศในปริมาณที่น้อยลง
เมื่อปริมาณสินค้าส่งออกเพิ่มมากขึ้นและปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาใช้บริโภคในประเทศก็ลดน้อยลงด้วยในเวลาเดียวกัน แต่ความต้องการบริโภคสินค้าเหล่านั้นยังเท่าเดิม ก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้น
และเมื่อระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณสินค้ามีไม่พอกับความต้องการ จึงเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด Demand-Pull Inflation นั่นเองครับ
การใช้จ่ายของรัฐบาล
นโยบายการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลมีผลต่อปริมาณการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมากและเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่จะเสริมให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อจากอุปสงค์ที่มากขึ้น(Demand-Pull Inflation) ซึ่งก็ต้องคอยควบคุมไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป
โปรเจคก่อสร้างต่างๆ เช่นการสร้างถนน สร้างรถไฟฟ้า หรือเมกะโปรเจคในรูปแบบอื่นๆจะทำให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมากนั่นหมายความว่าเกิดการสร้างรายได้ให้ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น
เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อมมากขึ้น ก็เกิดความต้องการ(Demand)ในการบริโภคสินค้าและบริการในปริมาณที่มากขึ้นตามมาด้วย ทำให้ระดับราคาสินค้าชนิดต่างๆอาจปรับตัวขึ้นตามมา
ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อ
ถ้าใครที่เป็นนักลงทุนหรือเป็นคนที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจอยู่เป็นประจำก็จะเห็นว่าในแต่ละปีจะมีการออกมาคาดการณ์ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจากหน่วยงานต่างๆ เช่นธนาคารกลางในแต่ละประเทศ,นักเศรษฐศาสตร์ตามสำนักข่าวต่างๆ
การคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวจะมีผลกับผู้ประกอบการหรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆที่จะต้องพยายามปรับตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ
ตัวอย่างเช่นถ้ามีการคาดการณ์ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อว่าออกมาว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงปีหน้าที่กำลังจะถึง บริษัทห้าร้านต่างๆอาจจะมีการขึ้นราคาสินค้าเพื่อปรับตัวให้พร้อมรับกับต้นทุนที่คาดว่าจะสูงขึ้นในเวลาอันไกล้
หรือในขณะเดียวกัน ถ้าบริษัทหรือผู้ประกอบการต่างๆเชื่อว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในเวลาอันใกล้ ก็อาจจะวางแผนซื้อวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าไว้ล่วงหน้าในปริมาณที่มาก ทำให้เกิดความต้องการสินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นในระยะสั้นๆส่งผลให้ราคาวัตถุดิบดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลทำให้เกิดเงินเฟ้อจาก Demand-Pull Inflation ได้เหมือนกัน
ปริมาณเงินในระบบ
ปัจจัยต่างๆที่เขียนมาในข้อก่อนหน้านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้มีปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปริมาณเงินในระบบนี่ล่ะครับ ที่เป็นต้นเหตุทำให้สภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นตามมา
การมีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบในระดับที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เงินในระบบมีปริมาณมากเกินไปก็จะทำให้เกิดความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นจนทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินไปตามมาได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเงินที่ถูกเพิ่มเข้ามาในระบบนั้นเป็นเงินที่ถูกพิมพ์ออกมาโดยที่ไม่ได้มีอะไรรองรับ เช่นสินทรัพย์ค้ำประกันอย่างทองคำ หรือเป็นเงินที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากผลิตผลทางเศรษฐกิจ(Productivity) ในรูปแบบต่างๆ
และการที่อยู่ดีๆก็มีเงินถูกอัดฉีดเข้ามาในระบบอย่างเลื่อนลอยแบบนี้ก็จะส่งผลให้มูลค่าของเงินนั้นลดต่ำลงไปต้องใช้เงินเยอะๆเพื่อที่จะซื้อสินค้าและบริการในปริมาณที่เท่าเดิมซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้นนั่นเอง
Built-in Inflation คืออะไร
Built-In Inflation คือปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อโดยมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ในอดีตที่ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ,แรงงานหรือคนทั่วๆไปเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในอนาคตน่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันหรืออาจจะมากกว่าถ้าเทียบกับสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน
เมื่อผู้คนในระบบเศรษฐกิจมีความเชื่อแบบนั้นแล้วก็อาจจะส่งผลทำให้มีข้อเรียกร้องหรือการกระทำบางอย่างออกมา เช่นพนักงานออกมาเรียกร้องการเพิ่มค่าตอบแทนในการทำงาน หรือผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าต่างๆอาจจะพากันขึ้นราคาสินค้าเพื่อพยายามปรับตัวให้รับกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทุกคนเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกล้
เมื่อทุกภาคส่วนพร้อมใจกันทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น ก็จะทำให้ราคาขายสินค้าและบริการต้องเพิ่มขึ้นตามมาเพื่อสะท้อนต้นทุน เมื่อระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ
เหตุการณ์เงินเฟ้อในลักษณะนี้เรียกว่า Wage-Price spiral หมายความว่าเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการต่างๆนั้นเพิ่มสูงขึ้น แรงงานต่างๆก็อาจจะมีการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเพิ่มค่าตอบแทนในการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น
และเมื่อผู้ประกอบกิจการตัดสินใจยอมเพิ่มค่าจ้างพนักงานก็จะต้องทำการโอนถ่ายภาระต้นทุนดังกล่าวกลับมาให้ผู้บริโภคด้วยวิธีการขึ้นราคาสินค้าและบริการ ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของทุกคนเพิ่มขึ้นมาอีก
และเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะเกิดเป็นวังวนที่ทำให้สินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นอย่างไม่รู้จบ จนอาจทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อที่มากเกินไปได้หากไม่มีการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ
แล้วสภาวะเงินเฟ้อมันส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
7 ผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อ
สภาวะเงินเฟ้อนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเองและยังเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง รวมถึงส่งผลกับคุณภาพชีวิต,การวางแผนการเงินการลงทุนของคนในประเทศอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง สภาวะเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นและไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าผลกระทบของมันมีอะไรบ้างและเราจะสามารถใช้ประโยชน์หรือบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง และต่อไปนี้คือ 7 ผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อครับ
- ลดทอนกำลังซื้อ
- ช่วยกระตุ้นการลงทุน
- กระตุ้นสภาวะเงินเฟ้อ
- ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย
- ผลกระทบต่ออัตราการว่างงาน
- กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
- ผลกระทบต่อค่าเงิน(Exchange Rate)
ลดทอนกำลังซื้อ
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากสภาวะเงินเฟ้อและถือว่าเป็นต้นเหตุของสิ่งๆนี้เลยก็คือระดับราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นนั่นเองครับ
เมื่อสินค้าและบริการในรูปแบบต่างๆราคาเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้เงินหรือรายได้ที่เราเคยมีอยู่จำนวนเท่าเดิมนั้นซื้อของได้ในปริมาณที่น้อยลง นั่นหมายความว่าถ้าเรายังมีรายได้เท่าเดิมในทุกๆเดือน ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของเราก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆนั่นเอง
แต่ปัญหานี้ก็สามารถแก้ไขและป้องกันได้ด้วยการหาวิธีให้เงินทำงานสร้างผลตอบแทนให้เรานั่นเองครับ
ช่วยกระตุ้นการลงทุนในรูปแบบต่างๆ
สภาวะเงินเฟ้อเป็นสาเหตุทำให้มูลค่าของเงินที่เรามีนั้นลดลงไปเรื่อยๆถ้าเราเก็บเงินไว้เฉยๆโดยที่ไม่ได้วางแผนนำเงินไปลงทุนทำอะไรเพื่อสร้างผลตอบแทน
และถึงแม้ว่าจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินไว้กับธนาคารก็ไม่สามารถชนะอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าเงินเฟ้ออยู่พอสมควรและไม่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นได้เลย
เพราะฉะนั้น คนจึงเริ่มที่จะสนใจหันมาศึกษาการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่นลงทุนในหุ้น,กองทุนรวม หรือแม้แต่คริปโตเคอร์เรนซี่ เพื่อที่จะให้เงินทำงานสร้างผลตอบแทนและคอยเพิ่มมูลค่าของเงินให้ทันกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
กระตุ้นสภาวะเงินเฟ้อ
ตัวของสภาวะเงินเฟ้อเองก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นเหมือนกันนะครับ และเหตุการณ์ในรูปแบบนี้ก็มักจะเป็นวังวนที่ทำให้สินค้าและบริการต่างๆมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆไม่รู้จบ
เมื่อมีการคาดการณ์ว่าสินค้าและบริการต่างๆกำลังจะมีราคาสูงขึ้นก็จะไปกระตุ้นให้ผู้บริโภคจะต้องทำอะไรซักอย่างไม่ว่าจะเป็นคนทั่วๆไปหรือผู้ประกอบกิจการต่างๆ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ถ้าหากมีข่าวว่าสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันกำลังจะแพงขึ้น เช่นพรุ่งนี้น้ำมันจะราคาแพงขึ้น หลายๆคนก็จะแห่กันไปซื้อเติมน้ำมันไว้ก่อน หรือถ้าราคาขายปลีกข้าวสาร,เนื้อสัตว์หรืออื่นๆจะเพิ่มขึ้น คนก็จะไปซื้อไว้ล่วงหน้าก่อน จะได้ไม่ต้องจ่ายแพง
และตามกลไกธรรมชาติของตลาด เมื่อมีความต้องการในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
หรือในแง่ของผู้ประกอบการในธุรกิจรูปแบบต่างๆที่ต้องซื้อสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต ถ้ามีการคาดการณ์ว่าราคาวัตถุดิบกำลังจะเพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีความต้องการในการซื้อสินค้าวัตถุดิบเหล่านั้นไว้ล่วงหน้า และก็จะยิ่งส่งผลให้ราคาสินค้าดังกล่าวแพงมากขึ้นไปอีก
ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย
อัตราดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นของคู่กัน เพราะธนาคารกลางของประเทศต่างๆจะควบคุมสภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย”
ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงดอกเบี้ยนโยบายก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยนโยบายก็จะลดต่ำลงด้วยเช่นเดียวกัน
เงินเฟ้อสูงทำให้ดอกเบี้ยสูง
เวลาที่เศรษฐกิจดี ผู้คนต่างต้องการเพิ่มการลงทุน ขอสินเชื่อธนาคารเพื่อขยายกิจการและมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการชนิดต่างๆมากขึ้นก็จะมีสภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นตามมา
เมื่อสภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนมากเกินไป ธนาคารกลางก็จะแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูดเงินกลับ ลดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบให้น้อยลง จูงใจให้คนนำเงินมาฝากไว้ในธนาคาร ลดปริมาณการขอสินเชื่อเพราะดอกเบี้ยแพง ลดการขยายกิจการต่างๆ ลดการจ้างงาน
และเมื่อเงินหมุนเวียนในระบบน้อยลงแล้ว ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆก็จะลดน้อยลงไปด้วย ทำให้ราคาสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้นและช่วยชะลอเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อต่ำทำให้ดอกเบี้ยต่ำ
ในทางกลับกันถ้าสภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างฝืดเคือง อัตราการจ้างงานต่ำ ผู้คนไม่ค่อยกล้าใช้จ่าย ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมีน้อยเกินไป ทำให้ปริมาณสินค้าและบริการที่มีนั้นมากกว่าความต้องการบริโภค จะส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำลงเรื่อยๆ อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงจนกลายเป็นสภาวะที่เรียกว่า “เงินฝืด”
ในสถานการณ์แบบนี้ธนาคารจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อปล่อยเงินกลับเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนและสร้างความต้องการในการบริโภคสินค้าและบริการชนิดต่างๆ
สำหรับคนทั่วไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้ต่ำลง ก็จะทำให้คนไม่อยากนำเงินฝากไว้ในธนาคารและนำเงินออกมาใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการหรือลงทุนในสินทรัพย์ชนิดต่างๆ เช่นหุ้น,กองทุนรวม หรืออื่นๆ เมื่อผู้คนเริ่มนำเงินออกมาใช้ ความต้องการในการซื้อสินค้าต่างๆก็จะเพิ่มมากขึ้นตามมาส่งผลไปยังผู้ผลิตสินค้าและบริการชนิดต่างๆ
ในแง่ของผู้ประกอบธุรกิจเช่น ค้าขาย,โรงงานผลิตสินค้าหรือธุรกิจบริการ เมื่อธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง พร้อมกับความต้องการจากผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการกู้เงินมาใช้ขยายกิจการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต สร้างยอดขายที่มากขึ้น
เมื่อผู้ประกอบการต้องการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตก็จะต้องจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนมีงานทำมากขึ้น สร้างรายได้และนำเงินที่ได้นั้นกลับไปจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการต่างๆ
ผลกระทบต่ออัตราการว่างงาน
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด โดยจะสัมพันธ์กันแบบแปรผัน คือในเวลาที่อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้น ตัวเลขอัตราการว่างงานจะค่อนข้างต่ำเพราะกิจการต่างๆมีความต้องการแรงงานเพื่อผลิตสินค้าและบริการออกมาตอบสนองผู้บริโภค
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นเวลาที่อัตราเงินเฟ้อต่ำๆ เศรษฐกิจซบเซา ไม่ค่อยมีการใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้าและบริการ กิจการต่างๆไม่มีการเติบโตและอาจจะลดการจ้างงานลงก็จะทำให้ตัวเลขการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ตัวเลขอัตราการว่างงานเป็นอีกตัวชี้วัดนึงที่พอจะสามารถใช้คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อหรือแรงกดดันที่จะทำให้เงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง
กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
ภาวะเงินเฟ้ออ่อนๆ ภายใต้การควบคุมและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งผลดีต่อระบบการเงินโดยรวมของแต่ละประเทศเพราะเป็นตัวกระตุ้นให้คนนำเงินออกมาลงทุน มาใช้จ่าย
ภายใต้สภาวะเงินเฟ้อ คนจะเริ่มตระหนักว่าถ้าหากทำงานหาเงินมาแล้วนำไปฝากธนาคารอย่างเดียวจะทำให้มูลค่าของเงินหดหายไปเรื่อยๆ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารให้นั้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่มากพอสมควร
ดังนั้น คนจึงเริ่มหันมาสนใจการลงทุน,นำเงินออกมาทำกิจการหรือแม้แต่เอาออกมาซื้อสินค้าและบริการต่างๆกันมากขึ้น เมื่อกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นก็จะทำให้มีความต้องการในการบริโภคสิ่งต่างๆมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีการเติบโต
ผลกระทบต่อค่าเงิน(Exchange Rate)
อัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อนั้นส่งผลต่อมูลค่าของเงินในแต่ละสกุลโดยตรง
ถ้าประเทศไหนมีอัตราเงินเฟ้อสูงๆนั่นก็แปลว่าข้าวของมีราคาแพงขึ้น และเมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นก็แปลว่าเงินในจำนวณเท่าเดิมนั้นสามารถซื้อของได้น้อยลงหรือพูดอีกอย่างก็คือ สกุลเงินของประเทศนั้นๆมีค่าลดลงนั่นเองครับ
แล้วมันจะมีวิธีการควบคุมเงินเฟ้อยังไงได้บ้าง?
วิธีการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ
วิธีการหลักๆที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศใช้ควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมมีอยู่ด้วยกัน 4 วิธีคือ
- นโยบายการเงิน
- นโยบายการคลัง
- บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศ
- ใช้มาตรฐานทองคำ
- ควบคุมค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้า
นโยบายการเงิน
ธนาคารกลางของประเทศต่างๆจะออกนโยบายทางการเงินซึ่งจริงๆแล้วก็คือการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(Policy Rate)นั่นเองครับ
โดยที่ธนาคารกลางจะใช้ข้อมูลต่างๆเพื่อคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในอนาคตแล้วก็จะจัดการประชุมเพื่อกำหนดหรือปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม
นโยบายการคลัง
นโยบายการคลังคือวิธีการหารายรับและวิธีการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในแต่ละประเทศ ซึ่งการตัดสินใจว่าจะใช้นโยบายแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาของประเทศนั้นๆ
สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อและคนทั่วไปสามาารถเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดก็คือนโยบายการเก็บภาษีและนโยบายการใช้จ่ายของรัฐนั่นเอง
ในเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีปริมาณมาก เศรษฐกิจร้อนแรงและรัฐบาลต้องการจะดูดเงินออกจากระบบก็จะใช้นโยบายการคลังแบบเกินดุล
นโยบายงบประมาณแบบเกินดุลคืออะไร?
ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็คือเงินที่อยู่ในมือประชาชนใช่มั้ยครับ ซึ่งรายได้ของรัฐบาลที่จะเรียกเก็บจากประชาชนก็คือการเก็บภาษี และตามปกติเมื่อรัฐเก็บภาษีไปแล้วก็จะต้องนำไปใช้จ่ายซึ่งก็คือการปล่อยเงินกลับเข้าสู่ระบบ
นโยบายการคลังแบบเกินดุลคือการที่รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินให้น้อยกว่ารายรับที่เก็บภาษีจากประชาชนมา และเมื่อรัฐปล่อยเงินออกไปในระบบน้อยกว่าที่เก็บภาษีมาได้ ก็จะทำให้เม็ดเงินโดยรวมในระบบมีปริมาณน้อยลง
เมื่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีปริมาณเงินน้อยลงก็จะทำให้เงินมีค่ามากขึ้น ลดความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ระดับราคาไม่เพิ่มสูงขึ้น เป็นการจำกัดอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง
บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศ
การควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศจริงๆแล้วเป็นผลต่อเนื่องมาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลาง
เมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจซบเซา อัตราเงินเฟ้ออยู่ในปริมาณที่ต่ำเกินไป ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยชนิดต่างๆในตลาดเงินจะลดลง เช่นพันธบัตร รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย
นั่นหมายความว่า ผลตอบแทนจากการนำเงินมาลงทุนในตลาดเงินของประเทศนั้นๆจะลดลงทันที เป็นผลทำให้เงินลงทุนจะไหลออกไปที่ประเทศอื่นๆเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า
ผลของการที่เงินทุนไหลออกไปประเทศอื่นก็จะทำให้สกุลเงินของประเทศนั้นอ่อนค่าลง และเมื่อค่าเงินอ่อนลงก็จะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้นและลดปริมาณการนำเข้าสินค้าไปด้วยพร้อมกัน
เมื่อส่งสินค้าออกได้มาก และนำเข้าสินค้าได้น้อยลง จะทำให้อุปทานสินค้าและบริการในประเทศลดน้อยลงจนพอดีหรือต่ำกว่าอุปสงค์ ทำให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ
ใช้มาตรฐานทองคำ (Gold Standard)
ถ้าสภาวะเงินเฟ้อทำให้เงินที่ถูกพิมพ์เข้ามาในระบบเศรษฐิกิจด้อยมูลค่าลง นั่นแปลว่าเราสามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ด้วยการหาวิธีการรักษามูลค่าของเงินไว้ด้วยการหาอะไรมารับประกันมูลค่าของเงินกระดาษไว้
สินทรัพย์ที่คนทั่วโลกให้ความเชื่อถือในมูลค่ามาเป็นเวลานานและสามารถใช้เป็นสิ่งประกันมูลค่าให้กับเงินกระดาษสกุลต่างๆได้ดีที่สุดในปัจจุบันก็คือทองคำนั่นเองครับ
เหมือนกับในสมัยก่อนที่ถ้าประเทศไหนจะพิมพ์เงินเพิ่มก็จะต้องมีการค้ำประกันเงินจำนวนนั้นๆด้วยทองคำที่มีมูลค่าเท่ากันหรือที่เคยเรียกว่า Gold Standard นั่นเอง
เมื่อเงินที่ถูกพิมพ์เข้ามาในระบบเศรษฐกิจถูกค้ำประกันด้วยทองคำและสามารถนำเงินไปแลกออกมาเป็นทองคำแท่งได้จริงๆ ก็จะส่งผลให้มูลค่าของเงินกระดาษไม่หายไปง่ายๆ
เมื่อการพิมพ์เงินกระดาษออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจถูกบังคับว่าจะต้องมีทองคำมูลค่าเท่ากันมาค้ำประกันไว้ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัดการพิมพ์เงิน และจำกัดปริมาณเงินในระบบไปโดยอัตโนมัติ
ควบคุมค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้า
การควบคุมอัตราค่าจ้างและราคาสินค้า ก็เป็นอีกวิธีนึงที่ถูกนำมาใช้จำกัดปริมาณเงินเฟ้อ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานและราคาสินค้านั้นเป็นต้นทุนของสินค้าและบริการทุกๆประเภท ดังนั้นการควบคุมต้นทุนส่วนนี้ไว้ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงมากเกินไป
จะเห็นได้ว่าเงินสภาวะเงินเฟ้อนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมในแต่ละประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถทำความรู้จักกับมันและใช้ประโยชน์จากข้อดีของเงินเฟ้อได้ ก็จะทำให้เราสามารถวางแผนการเงินการลงทุนได้อย่างไม่ยากนัก
References
- Bank of Thailand :Inflation
- Wiki
- International Monetary Fund
- Investopedia
- Europe Central Bank
- Ministry of Commerce
- Ministry of Commerce announcement
- Bureau of Economic Analysis
- US. Federal Reserve
- Investopedia: Cost-push inflation
- The Balance : Cost-push Inflation
- Intelligence economist
- Satit
- Investopedia : Demand-pull Inflation
- The Balance : Demand-pull Inflation
- Wikipedia : Demand-pull inflation
- Investopedia : Effects of Inflation