หัวข้อน่าสนใจ
อะไรคือ Smart contract?
Smart Contract คือชุดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกเขียนลงไปชุดข้อมูลสัญญาบนระบบ Blockchain ของ Ethereum ทำหน้าที่เป็นสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ที่จะระบุเงื่อนไขข้อตกลง,กฎระเบียบต่างๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฎิบัติต่อกัน และจะทำงานด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ เมื่อเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาเกิดขึ้น โดยที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขหรือโกงสัญญาที่ถูกเขียนไว้ได้
ตัวอย่างง่ายๆถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คือ “ตู้กดน้ำอัตโนมัติ” โปรแกรมในตู้จะถูกระบุไว้ว่าคุณต้องใส่เงินให้เท่ากับราคาของน้ำที่คุณจะซื้อ ตู้ถึงจะยอมปล่อยน้ำชนิดนั้นๆออกมาให้คุณ ถ้าหากคุณไม่ใส่ตังค์ไปก่อน หรือใส่ตังค์ไปไม่ครบ ไม่ว่าคุณจะกดปุ่มสั่งน้ำยังไงก็ตาม ตู้ก็จะไม่ปล่อยน้ำออกมาให้คุณหยิบไปดื่ม
Smart Contract “จุดขาย”สำหรับ Ethereum
หลายๆคนอาจจะเคยสงสัยว่าเจ้าเหรียญดิจิทัลอย่าง Ether(ETH) มันมีมูลค่า มีราคาขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบิทคอยน์(BTC)ที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี่มูลค่าอันดับ 1 ของโลกได้ยังไง
คำตอบก็คือ เพราะเจ้าเหรียญ Ether(ETH) นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี ถ้าต้องการจะใช้งานเครือข่าย Blockchain ของ Ethereum นั่นเองครับ ในการที่จะใช้งานเครือข่าย Ethereum เราจำเป็นต้องใช้เหรียญ Ether(ETH) มาจ่ายค่าธรรมเนียม(GAS) ไม่สามารถใช้เงินดิจิทัลสกุลอื่นได้ และเจ้าเครือข่าย Blockchain ของ Ethereum นี่ก็เริ่มถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นๆด้วยในปัจจุบัน เพราะว่า Smart Contract นี่ล่ะครับ ที่เป็นจุดเด่นมากๆของระบบ Ethereum ที่นักพัฒนาสามารถนำไปประยุกต์ทำประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Application หรือ โปรเจคต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมาบนเครือข่าย Ethereum เมื่อมีการใช้งานระบบมากขึ้น ก็มีความต้องการเหรียญดิจิทัลสกุล Ether(ETH) มากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นตามไปด้วย
Smart Contract ทำให้การทำสัญญาธุรกรรมรัดกุมมากขึ้น
ในปัจจุบัน เวลาเราทำธุรกรรมต่างๆที่สำคัญๆก็จะต้องมีการเขียนสัญญาขึ้นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อ/ขายอสังหาริมทรัพย์,สัญญาเช่า,สัญญากู้ยืมเงิน หรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นหลักประกันว่าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันจริงๆ โดยจะเป็นการเขียนข้อสัญญาลงในกระดาษ และเซ็นรับทราบทั้ง 2 ฝ่าย
แต่ปัญหาของการทำสัญญาแบบเก่าก็คือ จะต้องเขียนลงในเอกสารกระดาษ มีจำนวนเยอะ และอาจสูญหาย เสียหายได้โดยง่าย และที่สำคัญอาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญาที่เขียนไว้บนกระดาษได้ โดยที่เป็นการเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง
เมื่อการเขียนสัญญากระดาษแบบเก่าเกิดข้อขัดแย้ง หรือมีปัญหาระหว่างคู่สัญญา ก็จะต้องไปยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางตัดสินและบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาปฏิบัติตามสัญญาหรือยอมชดใช้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่ยุติธรรม คนเชื่อถือและใช้กันมานาน แต่ก็เป็นกระบวนการที่กินเวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง
Smart Contract จึงสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ โดยการเขียนระบุเงื่อนไขของทั้ง 2 ฝ่ายลงไปในสัญญาดิจิทัลนั้นๆเลย โดยถ้าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายปฎิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ แต่ถ้าไม่ทำตามสัญญาก็อาจจะถูกงดสิทธิการใช้สินค้าหรือบริการบางอย่างไปโดยอัตโนมัติ เช่น
ตัวอย่างการใช้งาน Smart Contract
ตัวอย่าง Smart Contract เช่าอสังหาริมทรัพย์
หากเราทำสัญญาเป็นผู้เช่าคอนโดไว้ โดยที่ใน Smart contract ระบุวันที่จะต้องจ่ายค่าเช่าในแต่ละเดือนไว้ เมื่อถึงวันที่จะต้องจ่ายค่าเช่าแล้วเรายังไม่จ่าย หรือใน Smart contract อาจจะกำหนดว่าเราค้างค่าเช่าได้เป็นระยะเวลา 2 เดือน เมื่อเราค้างค่าเช่าครบ 2 เดือนแล้ว โปรแกรมที่เขียนไว้ใน Smart contract จะสั่งให้ประตูห้องปิดล็อค ไม่ให้เราเข้าห้องได้ หากจะเปิดประตูเข้าห้องได้ก็ต้องจ่ายค่าเช่าให้ครบก่อน
ตัวอย่าง Smart Contract เช่ารถ
สมมุติว่าเราไปเช่ารถ ถ้าหากเราจ่ายค่าเช่าครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้ว เราจะสามารถเปิดประตูเข้าไปนั่งในรถและสตาร์ทเครื่องยนต์ขับรถไปได้ปกติ แต่ถ้าหากเรายังไม่จ่ายหรือจ่ายค่าเช่ารถไม่ครบ หรือไม่มีประกันภัยรถยนต์ที่ควรจะมี ตัวโปรแกรมใน Smart Contract ก็จะไม่ยอมใ้เราขึ้นรถ หรือสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อใช้งาน
ตัวอย่าง Smart contract ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
Smart Contract ในลักษณะนี้ค่อนข้างจะพบเจอได้บ่อยในปัจจุบัน เพราะเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมี Platform หรือคนคิดค้นโปรเจคเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมามากขึ้น โดยจะระบุไว้ใน White Paper ของโปรเจคหรือกิจการที่ออกมาระดมทุน ถ้าเป็นในเมืองไทยก็จะต้องได้รับการตรวจสอบโดย ICO Portal ที่ได้รับการรับรองจาก กลต.
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการออกโครงการหรือกิจการใหม่ๆมาย่อมต้องการการระดมทุนผ่านกระบวนการ ICO(Initial Coin Offering) ซึ่งก็คือการนำเหรียญดิจิทัลของโครงการนั้นๆมาออกขาย โดยผู้ที่สนใจซื้อก็จะต้องนำเหรียญสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆมาแลกซื้อไป
Smart Contract ก็จะเข้ามาจัดการกระบวนการนี้โดยอัตโนมัติ โดยราคาและเงื่อนไขต่างๆของเหรียญที่นำออกมาขายก็จะถูกระบุอยู่ในโปรแกรมของเหรียญดิจิทัลชนิดนั้นๆ และเมื่อผู้ซื้อนำเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆมาซื้อก็จะได้เหรียญไปตามจำนวนอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้
หรืออาจจะกำหนดเงื่อนไขการลงทุนไว้ใน Smart contract ก็ได้เช่น หากคุณนำเงินมาลงทุนในกองทุน DeFi แล้วได้กำไร ก็จะมีการแบ่งผลกำไรให้ผู้ลงทุนเป็นอัตราส่วน…% และเก็บค่าธรรมเนียมกี่ %
Smart Contract ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน DeFi ที่มีโครงการดีและโปร่งใสจะถูกระบุเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ให้บริการ DeFi สามารถนำเงินเราไปลงทุนให้ผลกำไรงอกเงยได้ แต่ไม่สามารถนำเงินของเราไปใช้อย่างอื่นได้ หรือแม้แต่จะปิดเว็บ หอบเงินเราหนีไปดื้อๆ(Rug pull) เราก็ยังจะสามารถดึงเงินลงทุนของเรากลับมาได้ด้วย Smart Contract เพราะฉะนั้นการลงทุนในแบบต่างๆที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะค่อนข้างปลอดภัยมาก ถ้าเรารู้และเข้าใจเรื่อง Smart Contract
ตัวอย่าง Smart Contract ในธุรกิจประกัน
หลายๆคนคงคุ้นกับการทำประกันการเดินทางใช่มั้ยครับ ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นการทำสัญญากันด้วยกระดาษ แล้วถ้ามีเหตุอะไรเกิดขึ้น เช่นเที่ยวบินล่าช้าและต้องการเคลมประกัน ก็ต้องส่งเรื่องไปที่บริษัทประกัน และรอบริษัทประกันตรวจสอบกลับไปที่สายการบินอีกทีว่าเที่ยวบินที่ท่านขึ้นมานั้นล่าช้าจริงรึเปล่า
แต่ถ้าทำสัญญากันบน Smart Contract เพียงแค่คุณจ่ายเบี้ยประกันไว้ตามที่ตกลงกันกับบริษัทประกัน และถ้าถึงเวลาบินจริงแล้วเที่ยวบินเกิดดีเลย์ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีของคุณโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกันถ้าไม่มีการล่าช้าของเที่ยวบินเกิดขึ้นเงินจำนวนนั้นก็จะถูกโอนกลับไปให้บริษัทประกัน
จะเห็นได้ว่าการนำ Smart Contract เข้ามาใช้ในการทำธุรกรรมที่ต้องอาศัยความเชื่อใจ ความโปร่งใส และมีผลประโยชน์ทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จะทำให้ธุรกรรมเหล่านั้นมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆจะถูกเขียนระบุไว้ในโปรแกรมของสัญญานั้นๆเลย และไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขได้ ทำให้ลดการพึ่งพาการใช้ตัวกลาง(เช่น ธนาคาร,ศาล)ไปได้อย่างมาก ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย มีความปลอดภัยทางผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ
Smart Contract ทำงานยังไง?
สำหรับทั่วๆไป การทำงานของ Smart Contract คร่าวๆ มี 3 ขั้นตอนครับ
- ร่างเงื่อนไขสัญญาและแปลงเป็น Code คอมพิวเตอร์ บันทึกลงบน Blockchain
- มีการทำตามเงื่อนไขสัญญา และ Trigger Event เกิดขึ้น
- ให้สิทธิการเข้าถึงสินค้า/หรือบริการตามที่ได้ตกลงกันไว้
1.ร่างเงื่อนไขสัญญาและแปลงเป็น Code
คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงกันในเรื่องของเงื่อนไขและข้อปฎิบัติต่างๆ เช่น เงื่อนไขการจ่ายค่าเช่า,ราคาสินค้าหรือบริการ,สัญญาการลงทุนต่างๆ แล้วแปลงเป็นภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกลงบนเครือข่ายระบบ Blockchain โดยการที่จะเรียกใช้งานก็จะต้องมี Smart Contract Address ของกล่องข้อมูลที่เราสร้างสัญญาลงไป และเมื่อทำสัญญา Smart Contract ขึ้นมาแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้
2.ทำตามเงื่อนไขสัญญาและเกิด Trigger Event
เมื่อมีเหตุกาณ์ใดๆก็ตามที่ถูกระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาเกิดขึ้นมา เช่น ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้เช่าจ่ายเงินเข้ามาครบตามจำนวนแล้ว ตัว Smart Contract ก็จะพิจารณาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่
3.ให้สิทธิการเข้าถึงสินค้า/หรือบริการตามที่ได้ตกลงกันไว้
เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ในเงื่อนไขของ Smart Contract ระบบก็จะให้สิทธิการได้รับสินค้า หรือบริการตามที่ระบุไว้ เช่น สามารถเปิดประตูบ้านที่เช่าไว้ได้ หรืออาจจะเป็นการได้รับเหรียญ Utility Tokens ในกรณีที่เป็น Smart Contract เกี่ยวกับ ICO
ประโยชน์ของ Smart Contract
Smart Contract ถูกสร้างมาเพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์,ธุรกิจประกัน,การเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ การลงทุน/ระดมทุน,โครงสร้างธุรกรรมการเงินแบบ DeFi,การทำ NFT(Non-Fungible Token),Decentralized Autonomous Organization(DAO) หรือแม้แต่การทำเกมส์
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ Smart Contract ถึงแม้จะช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้การบังคับใช้สัญญาต่างๆมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ด้วยความที่ยังเป็นนวัตกรรมที่ใหม่มากจึงยังอาจจะมีช่องโหว่ และปัญหาในการใช้งานอยู่บ้างจึงยังต้องการการพัฒนาอีกพอสมควร และมีข้อดี ข้อเสียที่ต้องระวัง
ข้อดีของ Smart Contract
ทำงานเองอัตโนมัติ
เงื่อนไขสัญญาใน Smart Contract ถูกเขียนและเก็บไว้ในระบบ Computer ทำให้การดำเนินงานทุกๆอย่างสามารถเกิดขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องมีตัวกลางอย่างเช่น ทนายหรือนายหน้าต่างๆ ที่จะมาทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบสัญญาและธุรกรรม
โปร่งใส ตรวจสอบได้
เงื่อนไขสัญญาใน Smart Contract ถูกเขียนไว้บนเครือข่าย Blockchain ของ Ethereum และเมื่อเป็นข้อมูลอยู่บน Blockchain ก็หมายความว่าทุกๆฝ่ายจะสามารถเข้าถึงข้อมูล และไปตรวจสอบความถูกต้องได้ ทำให้เป็นประโยชน์กับคู่สัญญาทุกฝ่าย
ความปลอดภัยสูง
ข้อมูลที่เก็บไว้บนเครือข่าย Blockchain จะไม่ได้ถูกฝากไว้ ณ จุดศูนย์กลางการเก็บข้อมูลเพียงที่ใดที่หนึ่งเหมือนกับระบบ Server ต่างๆในปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลของทุกคนมีความปลอดภัย และถึงแม้ทุกคนจะสามารถตรวจสอบข้อมูลบน Blockchain ได้ แต่ก็ไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขได้
มีประสิทธิภาพสูง
ด้วยความที่การดำเนินธุรกรรมทุกอย่างสามารถดำเนินการไปด้วยตัวเองได้แบบอัตโนมัติ และไม่ต้องอาศัยตัวกลางต่างๆ เช่น ศาล,ธนาคาร,รัฐบาล,นายหน้า ทำให้การทำงานหลายๆอย่างลดขั้นตอนและลดตัวกลางออกไปได้มาก ประหยัดเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลดค่าใช้จ่าย
เมื่อ Smart Contract สามารถลดการพึ่งพาตัวกลางออกไปได้ จึงช่วยลดค่าธรรมเนียมต่างๆ และลดเวลาการทำงานซึ่งเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจ
ข้อเสียของ Smart Contract
ความผิดพลาดจากมนุษย์(Human Error)
การใช้งาน Smart Contract ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เพราะเป็นเทคโนดลยีที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นาน ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยีแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี และอาจจะต้องถึงขั้นมีความคุ้นเคยกับภาษา Computer มาแล้วเบื้องต้น หากไม่มีความรู้ความเข้าใจก็อาจจะสร้าง Smart Contract ที่มีความผิดพลาดแฝงอยู่ขึ้นมาได้ ต้องอย่าลืมว่าเราไม่สามารถย้อนกลัยไปแก้ไข Smart Contract ได้ถ้าหากมันถูกสร้างขึ้นมาแล้ว
แต่ในอนาคต คาดว่าผู้คนทั่วไปน่าจะเข้าถึงการใช้งาน Smart Contract ได้ง่ายขึ้นเพราะก็น่าจะมีการสร้างระบบการใช้งานสำเร็จรูปสำหรับงานชนิดต่างๆออกมาให้คนทั่วๆไปที่ทำธุรกิจ ทำธุรกรรม แต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องภาษาคอมพิวเตอร์ ใช้งานได้สะดวกด้วยตัวเอง เช่น App สำหรับทำสัญญาซื้อ/ขาย/เช่า อสังหาริมทรัพย์ ,App สำหรับทำสัญญาเช่ารถ และอื่นๆอีกมากมาย
ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ
ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังจากการกำเนิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้หลายๆประเทศยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของกฎระเบียบต่างๆที่จะต้องมีขึ้นเพื่อกำกับควบคุมการใช้งาน เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
Smart Contract เป็นคุณสมบัติที่ดีและเป็นจุดเด่นมากๆของเครือข่าย Ethereum Blockchain แต่ในเบื้องต้นอาจจะยากต่อการทำความเข้าใจว่ามันคืออะไร เพราะถ้าไปค้นดูตามอินเทอร์เน็ตก็จะมีแต่คำอธิบายในแบบของภาษา Code คอมพิวเตอร์ สำหรับคนทั่วๆไปการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Smart Contract แบบเบื้องต้น ว่ามันคืออะไร ทำงานยังไง มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง ส่งผลยังไงต่อมูลค่าหรือราคาของเหรียญ Ether(ETH) ยังไง ก็น่าจะเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้